Video

ปันประสบการณ์ SE : TaeJai Crowd Funding Platform เทใจ


เอด้าแห่งเว็บระดมทุนที่ชื่อเทใจ( www.Taejai.com ) จะมาเล่าเทคนิคในการระดมทุนทั้งจากในเว็บไซต์ ไปจนถึงการคุยกับผู้ใหญ่ใจดี

"เอด้าแห่งเว็บระดมทุนที่ชื่อเทใจ ( www.Taejai.com ) จะมาเล่าเทคนิคในการระดมทุนทั้งจากในเว็บไซต์ ไปจนถึงการคุยกับผู้ใหญ่ใจดี

เทใจคือ?

เทใจคือกลไกในการระดมทุนสำหรับโครงการเพื่อสังคม ปัจจุบันเทใจดำเนินการมา 5 ปีแล้ว และมีโครงการที่ระดมทุนผ่านเทใจแล้วประสบความสำเร็จประมาณ 200 กว่าโครงการ โดยเป็นโครงการเพื่อสังคมที่หลากหลายมากทั้งการศึกษา สิ่งแวดล้อม คนชรา ซึ่งโครงการทุกแบบสามารถเข้ามาระดมทุนผ่านเทใจได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะเทใจเป็นกลไกที่ดีมากสำหรับกิจการเพื่อสังคม “เมื่อองค์กรมีความคิดเริ่มต้นและอยากพัฒนาความคิดนั้นให้เป็นโครงการจริง ๆ และต้องการแหล่งทุนในการสนับสนุนให้โครงการเหล่านั้นเกิดขึ้น โดยเฉพาะการทดลองโมเดลต้นแบบ (Prototype) ซึ่งเทใจเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยเรื่องเหล่านี้ได้ดี ส่วนใหญ่โครงการที่ระดมทุนผ่านเทใจมักเป็นโครงการที่มีงบประมาณอยู่ประมาณหลักหมื่นถึงหลักแสน

เทใจเริ่มขึ้นมาจากแนวคิดที่เราต้องการตอบโจทย์ของตลาดในการสร้างวัฒนธรรมการให้ในประเทศไทย ซึ่งเรามองว่ามีช่องว่างอยู่ 2 ด้าน

ด้านแรกคือด้านผู้บริจาค คนไทยใจดี ชอบบริจาค แต่ว่าการบริจาคส่วนใหญ่มักไปที่วัดหรือองค์กรภาคสังคมที่เป็นองค์กรใหญ่ ๆและมีชื่อเสียงดีอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมาถึงองค์กรเล็ก ๆ โดยเราได้ทำการวิจัยเชิงลึกกับกลุ่มผู้บริจาค (Focus group) แล้วพบข้อเท็จจริงว่า

“องค์กรเล็ก ๆ ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนจึงไม่ทราบว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และการติดตามผลจะทำได้อย่างไร องค์กรเหล่านั้นมีตัวตนจริงหรือไม่? การทำงานเป็นอย่างไร?”

จากข้อมูลที่ได้มา ทำให้ตอนเราเริ่มทำเทใจ จึงต้องมีทีมงานลงไปทำการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของธุรกิจ (Due Diligence) ที่สมัครเข้ามา เพื่อแสดงข้อมูลให้กับผู้บริจาคว่าองค์กรเหล่านั้นมีตัวตนอยู่จริง มีการวัดผลการทำงาน มีทีมที่สามารถทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางสังคมตามพันธกิจที่ให้ไว้ และมีดัชนีชี้วัดความสำเร็จ

ทั้งนี้ทางทีมเทใจได้ทำงานร่วมกันกับภาคีองค์กรภาคสังคมประมาณ 4 – 5 องค์กร ทำให้เราเข้าใจถึงความยากลำบากขององค์กรภาคสังคมในการหาช่องทางการระดมทุน

“ดังนั้น เราจึงอยากให้มีพื้นที่ตรงกลางที่ให้องค์กรขนาดเล็ก-กลางหรือที่เพิ่งเริ่มต้นได้มีตัวตนในโลกออนไลน์และสามารถเชื่อมต่อกับผู้บริจาคได้ ทำให้องค์กรเหล่านั้นมีเงินทุนเพียงพอต่อการขยายผลการทำงานของตนเองได้”

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับ โดยเป็นการให้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่าการให้เพื่อทำบุญเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าเทใจไม่ใช่ Magic Platform ที่สามารถเนรมิตรเงินทุนตั้งต้นให้ได้ตามที่คาดฝันไว้

เทใจเป็นเพียงพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้นและเชื่อมต่อกับผู้ให้ได้มากขึ้น

การระดมทุนผ่านเทใจ ต้องทำอย่างไร?

แต่ละองค์กรต้องมีแผนงานของโครงการที่ชัดเจน ต้องการทำอะไร จะเอาเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง มีตัวชี้วัดวัดผลลัพธ์ทางสังคมจากโครงการดังกล่าวอย่างไร และมีกลไกใดในรายงานผลการทำงานในแต่ละช่วง (Milestone) เพราะทางเทใจต้องสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้กับผู้บริจาค

ก่อนจะมาทำเทใจ ทำอะไรมาก่อน?

ทำงานในฝั่งการลงทุนเพื่อสังคม โดยนอกจากงานประจำแล้วก็ทำ Thai Young Philantropist Network (TYPN) ซึ่งเป็นเครือข่ายของนักลงทุนเพื่อสังคมที่มีความสนใจในการลงทุนในกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบที่ต่าง ๆ กัน โดยการลงทุนมีทั้งการบริจาคที่ต้องการเห็นผลลัพธ์หรือเรียกว่าการบริจาคอย่างมีกลยุทธ์ หรือการลงทุนเพื่อที่เข้าไปถือหุ้นหรือเพื่อสนับสนุนทั้งเรื่องเงิน เรื่องเครือข่าย เรื่องทรัพยากรบุคคลหรือทักษะต่าง ๆ เพื่อการขยายผลหรือขยายงานของกิจการเพื่อสังคม

ถ้าต้องการระดมทุนต้องทำอย่างไร?

กิจการเพื่อสังคมมีช่วงระยะการทำงานที่แตกต่างกัน

ในระยะแรก แนวความคิดอาจยังไม่ตกผลึกหรือรูปแบบโมเดลทางธุรกิจยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ ดังนั้นการระดมทุน คงต้องเป็นการพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินให้เปล่า ซึ่งมีหลายช่องทาง เช่น การสมัครเข้าโครงการ Banpu Champion for Change ซึ่ง เป็นหนึ่งในช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อเริ่มทดลองทำแนวความคิดดังกล่าว หรือการใช้แพลตฟอร์ม เช่น เทใจ ซึ่งเป็นการระดมทุนจากคนทั่วไปในการพัฒนาโครงการหรือแนวคิดให้เป็นรูปธรรม หรือการนำเสนอต่อบริษัทที่ทำเรื่อง CSR ทีอาจมีจุดมุ่งหมายในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกิจการเพื่อสังคม

เนื่องจากหลายบริษัทในไทยมีทีมงานหรืองบประมาณในการสนับสนุนงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว และหลายที่อาจมีงบประมาณแต่ไม่มีทีมทำงานของตนเอง ดังนั้นเขาอยากร่วมมือกับกิจการเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ มากกว่าลงมือทำเอง

โดยช่วงนี้แต่ละองค์กรมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน บางองค์กรอาจใช้เวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือนในการเริ่มทำโมเดลต้นแบบและเริ่มตกผลึกโมเดลธุรกิจ แต่บางองค์กรอาจใช้เวลาถึง 3 ปี

เมื่อพ้นช่วงนี้ไป แต่ละองค์กรเริ่มมีบันทึกผลการทำงาน (Track Record) และเริ่มชัดเจนในโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายผลลัพธ์ทางสังคมและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร

ซึ่งช่องทางการระดมทุนในช่วงนี้มีหลากหลายมากตั้งแต่ตามระบบทั่วไป เช่น การกู้ธนาคาร หรือการนำเสนอแนวคิดให้กับนักลงทุนเหมือนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือการหานักลงทุนเพื่อสังคม (Angel Investor) ซึ่งมีหลายองค์กรภาคสังคมที่วางตัวเป็นคนกลางในการเชื่อมต่อกิจการเพื่อสังคมกับกลุ่มนักลงทุน เช่น Change Venture นอกจากช่องทางเหล่านี้ การเข้าร่วมแข่งขันต่าง ๆ ก็เป็นอีกช่องทางที่เปิดโอกาสให้เราได้พบนักลงทุนเพื่อสังคมหรือนักลงทุนทั่วไปที่มีความเชื่อในโมเดลธุรกิจของเรา

การเตรียมตัวในการระดมทุน

หากกิจการเพื่อสังคมต้องไปเจอผู้บริจาค นักลงทุนเพื่อสังคม หรือองค์กรตัวกลาง ควรเตรีียมตัวอย่างไร

การสื่อสาร เอกสารที่ใช้สื่อสาร ไม่ว่าเป็นสไลด์พรีเซ้นท์ (Presentation) หรือเว็บไซต์ ต้องคิดให้ตกผลึกว่าปัญหาใดที่เราต้องการจะแก้ผ่านโมเดลกิจการเพื่อสังคมนี้ แม้ว่าโมเดลธุรกิจอาจยังไม่ชัดเจนแต่ต้องมีภาพเบื้องต้นที่สามารถอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมได้ว่ากิจการเพื่อสังคมหรือโมเดลของเราสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการเพื่อสังคมต้องเข้าใจปัญหา เข้าใจตลาด และเข้าใจในงานที่ตนเองกำลังทำอยู่อย่างลึกซึ้ง ทีมงาน เป็นสิ่งที่นักลงทุนและผู้บริจาคให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เนื่องจากในตอนเริ่มต้น ผู้ประกอบการเพื่อสังคมอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นลูกค้า โมเดลการทำงานควรเป็นแบบใด วิธีหรือแนวคิดต่าง ๆ ใช้ได้ไหม จึงต้องมีการทดสอบสิ่งเหล่านี้ โดยทีมงานเป็นคนที่ให้ความมั่นใจในการเริ่มลองทำหรือการขยายผลการทำงานว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้องเพียงใด นอกจากนี้ ทีมงานที่น่าสนใจคือทีมที่มีความเชื่อ (Passion) ในเรื่องที่ต้องการแก้ไขอย่างลึกซึ้ง และมีทักษะการทำงานครบถ้วนในทีม หมายถึงว่าทักษะต่าง ๆ อาจไม่ได้อยู่ในคนเพียงคนเดียว แต่เป็นการรวมกันของสมาชิกในทีมที่มีทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจของกิจการเพื่อสังคมนั้น ๆ

คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ต้องการสมัครเข้าโครงการของเทใจหรือต้องการนำเสนอแนวคิดให้นักลงทุนเข้าใจงานของตนเอง

เน้นรูปหรืองานที่เราได้ทำมาแล้ว เพราะการมีข้อความเยอะ ๆ คนมักขี้เกียจอ่าน การติดตามเนื้อหาค่อนข้างยาก เวลาเขียนบรรยาย เช่น พรีเซนต์เทชั่น ภาษาต้องกระชับและใจความชัดเจน ต้องเขียนให้เป็นภาษาคน ต้องเข้าใจว่าคนที่เข้ามาดูโครงการบนเทใจ ไม่ได้เข้าใจหรืออยู่กับปัญหาสังคมทุกวันทุกเวลาแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม ดังนั้นต้องเขียนเล่าเรื่องสิ่งที่ทำให้น่าสนใจ ไม่เวิ่นเว้อ และให้พื้นฐานข้อมูลของปัญหาอย่างเพียงพอ ต้องไม่เหมารวมว่าทุกคนต้องรู้ เช่น การทำหมันแมว คนอื่นอาจไม่เข้าใจเนื้อหาของปัญหาได้เท่าเรา แต่เราต้องเล่าให้กระชับ ให้เข้าใจและเป็นภาษาคน

การสื่อสารกับนักลงทุนที่เป็นคนไทย การใช้ภาพได้ผลมากกว่าข้อความเยอะ ๆ ดังนั้นถ้ามีรูปเกี่ยวกับโครงการที่เราทำ จะเป็นวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมาก หรือถ้าไม่มีรูปแต่เราสามารถเอาแนวคิดที่เราทำทั้งโมเดลธุรกิจหรือวิธีการแก้ปัญหามาแปลงเป็น Info Graphic โดยเล่าให้เป็นรูปแบบที่เข้าใจง่ายขึ้น ย่อยง่ายขึ้น จะถูกจริตของนักลงทุนที่เป็นคนไทยมาก

พันธกิจของเทใจ

เราต้องการให้ผู้บริจาคของเราใช้การให้แบบมีกลยุทธ์คือให้แบบเห็นผลลัพธ์ทางสังคมจริง ๆ ดังนั้นเทใจจึงให้ความสำคัญต่อการที่แต่ละโครงการมีตัวชี้วัดทางสังคมที่ชัดเจน เช่น จะเอาเงินไปใช้ 50,000 บาทเพื่อช่วยเด็กเรื่องการศึกษา ซึ่งในการช่วยนี้มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้หน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ถ้าตัวชี้วัดมีความชัดเจนและเข้าใจง่าย จะสามารถตอบโจทย์ได้และทำให้กิจการเพื่อสังคมได้มาตรวัดที่ชัดเจนมากขึ้นในความสำเร็จของกิจการ

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีองค์กรที่ทำเรื่องคล้าย ๆ กันค่อนข้างเยอะ เช่น เรื่องการศึกษา จึงต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราทำเหมือนและแตกต่างจากองค์กรอื่นอย่างไร ผู้บริจาคหรือผู้สนับสนุนจึงควรเลือกสนับสนุนโครงการเรา

แต่ละองค์กรที่สมัครเข้าโครงการของเทใจจำเป็นต้องเตรียมตัว โดยการสื่อสารถึงเรื่องโครงการที่ทำต้องกระชับและชัดเจน เล่าประวัติความเป็นไป ปัญหาที่เราต้องการแก้ วิธีการที่เราจะแก้ และวิธีการวัดผลที่ชัดเจน การมีรูปประกอบและวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจทำให้คนที่อยากให้หรือสนับสนุนเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

โครงการที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในเทใจ เขามีกลยุทธ์หรือเทคนิคให้การดึงความสนใจให้คนมาบริจาคให้เขา เช่น มีการใช้สิ่งที่น่าสนใจในการเล่าเรื่อง หรือเชิญ Champion ที่มาให้กับโครงการนี้ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่บุคคลมีชื่อเสียง บางโครงการขอให้ดาราช่วยโพสต์ในไอจีเพื่อให้มาบริจาคผ่านเทใจ บางครั้งอาจไม่ต้องเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เช่น Life Hero ซึ่งใช้ผู้นำในภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความเชื่อในโครงการที่ทำ เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อยากปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ให้คนจากภาคสถาบันการเงิน การตลาด หรือจากหลาย ๆ ภาคส่วนมาเป็นคนสื่อสารให้คนในแวดวงรู้ว่ามีการสนับสนุนโครงการนี้ผ่านทางเทใจ

หรือว่ามีเทคนิคอื่น ๆ เช่นบางโครงการใช้วิธีสื่อสารเยอะ ๆ ผ่านทางสื่อออนไลน์หรือการร่วมกับนิตยสารหรือช่องวิทยุในการกระจายข่าว เพราะท้ายสุดแล้วการทำให้โครงการประสบความสำเร็จในการระดมทุนคือการเข้าถึงกลุ่มผู้ให้และผู้ที่มีแนวโน้มสนับสนุนโครงการนั้น ๆ เยอะ ๆ

เช่น เราทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม แล้วเรารู้ว่ามีกลุ่มปั่นจักยานหรือเดินป่า ที่มีความสนใจหรือมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เราจึงควรหาวิธีการเข้าถึงกลุ่มนี้ เช่น การเข้าร่วมงาน ร่วมกิจกรรม หรือพยายามติดต่อฝ่ายประสานงานของกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มในการเป็นผู้บริจาคให้กับโครงการของเรา หรือการสร้างความร่วมมือกับสื่อต่าง ๆ เพื่อสามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ ๆ ได้

โครงการต่าง ๆ บนเว็บไซต์เทใจ มักมีสมมติฐานที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางโครงการต้องการเงินทุนจำนวน 20 บาทจากจำนวนผู้บริจาค 1000 รายเพื่อมาสนับสนุนโครงการ หรือต้องการผู้บริจาคจำนวนแค่ 20 รายแต่บริจาคคนละ 1000 บามได้ไหม? ซึ่งสมมติฐานในตอนต้นเป็นตัวกำหนดว่าเราควรร่วมมือกับใคร มองหาแชมเปี้ยนแบบไหน หรือใช้ช่องทางใดในการกระจายข่าวเพื่อให้การระดมทุนผ่านเทใจประสบความสำเร็จ

การเตรียมตัวในการนำเสนอแนวคิดต่อฝ่าย CSR ของบริษัท

หาข้อมูลของบริษัทหรือองค์กร ซึ่งอาจมาจากข่าว CSR ของบริษัทหรือองค์กร ที่มีในเว็บไซต์ของบริษัทหรืออาจเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ของปีที่แล้วหรือปีก่อน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรูปแบบการทำ CSR มักไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ปตท. ชอบงานด้านป่าไม้หรือสิ่งแวดล้อมและใช้รูปแบบเดียวในทุกปีต่อเนื่องกัน เนื่องจากบริษัทสามารถเห็นความต่อเนื่องและความยั่งยืนของงานที่ทำ โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถศึกษาได้ล่วงหน้าจากกูเกิ้ล เมื่อเราทราบล่วงหน้าว่าองค์กรมีความสนใจในประเด็นที่เราทำงานอยู่ โอกาสที่เราจะโน้มน้าวให้เขาสนับสนุนเราได้ย่อมมมากขึ้น พูดคุยและแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมด้วยกัน องค์กรตัวกลางต่าง ๆ ทีมจากบ้านปู หรือคนที่มีประสบการณ์ด้านนี้ เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกของวิธีการต่าง ๆ ในการนำเสนอแนวคิดให้กับฝ่าย CSR ของบริษัท เช่น บางองค์กรต้องผ่านหลายบอร์ดบริหาร ซึ่งเราอาจศึกษาว่าสมาชิกในบอร์ด CSR มีความสนใจในเรื่องใดบ้าง และควรนำเสนอแนวคิดของเราอย่างไร “ทั้งนี้ เราไม่จำเป็นต้องปรับโมเดลหรือเปลี่ยนแผนงานของเราให้ตรงกันกับองค์กรหรือบริษัทเหล่านั้น แต่การรู้เขารู้เรา ทำให้วิธีการสื่อสารหรือการเล่าเรื่องของเราตรงกับกลุ่มที่เราต้องการเข้าไปนำเสนอมากขึ้น”

“กิจการเพื่อสังคมเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมเข้าไปนำเสนอแนวคิดหรือติดต่อกับบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับกิจการเพื่อสังคมหรือผู้ประกอบการสังคม จึงอยากให้ทุกคนศึกษาข้อมูลให้ดีเพื่อการสร้างความประทับใจที่ดีต่อทั้งธุรกิจของตนเองและภาพรวมของกิจการเพื่อสังคมทั้งภาคส่วนด้วย”

การศึกษาหาข้อมูลล่วงหน้า เอกสารหรือคลิปวิดีโอการสัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือรายการโทรทัศน์ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่ดี อีกทั้งเนื้อหาส่วนใหญ่จากสื่อมักเป็นการกลั่นกรองแล้วระดับหนึ่งเพื่อให้กระชับและเข้าใจง่าย จึงสามารถใช้เนื้อหาเหล่านี้ในการสร้างความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจมากขึ้น

ข้อมูลสำคัญที่สามารถแทรกเข้าไปในการนำเสนอหรือเว็บไซต์ของเราคือคำรับรองจากกลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วย เช่น องค์กรของเราทำงานด้านการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส การมีคำพูดหรือภาพต่าง ๆ ของเด็ก ช่วยให้เห็นตัวชี้วัดได้ชัดเจนขึ้น ทำให้โครงการของเรามีความหนักแน่นและน่าเชื่อถือมากขึ้น

คำแนะนำถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ หรือผู้ที่สนใจ

ต้องศึกษาให้เข้าใจปัญหาที่เราต้องการแก้อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้รูปแบบของการแก้ปัญหานั้นมีความชัดเจนและการเล่าเรื่องหรือนำเสอนแนวคิดมีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือมากขึ้น ความสำเร็จมิได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนหรือข้ามปี หลายเรื่องต้องใช้เวลาหลายปี จึงอยากให้มีความตั้งใจจริงและมีพันธสัญญา (Committment) ในการทำงานด้านนี้ เนื่องจากคนทั่วไปมักมองว่าคนรุ่นใหม่มีความปราถนาแรงกล้า มีไฟในการทำงานสูง แต่ไม่ค่อยมีพันธสัญญาต่องานที่ทำ ซึ่งเราต้องพิสูจน์ความมุ่งมั่นของตนเองให้พวกเขารับรู้

สรุป

เทใจคือกลไกในการระดมทุนสำหรับโครงการเพื่อสังคม ซึ่งโครงการทุกแบบสามารถเข้ามาระดมทุนผ่านเทใจได้ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่มีความคิดเริ่มต้นและอยากพัฒนาความคิดนั้นให้เป็นโครงการจริง ๆ และต้องการแหล่งทุนในการสนับสนุนให้โครงการเหล่านั้นเกิดขึ้น โดยเฉพาะการทดลองโมเดลต้นแบบ (Prototype) การสร้างวัฒนธรรมการให้ในประเทศไทย โดยเป็นการให้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่าการให้เพื่อทำบุญเท่านั้น ซึ่งวัฒนธรรมการให้ในประเทศไทยมีช่องว่างอยู่ 2 ด้าน ด้านผู้บริจาค ซึ่งการบริจาคส่วนใหญ่มักไปที่วัดหรือองค์กรภาคสังคมที่เป็นองค์กรใหญ่ ๆ และมีชื่อเสียงดีอยู่แล้ว ซึ่งจากการวิจัยเชิงลึกกับกลุ่มผู้บริจาค (Focus group) พบว่าผู้บริจาคมีความกังวลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรเล็ก ๆ แนวทางการติดตามผลการดำเนินงานและรูปแบบการทำงานต้องทำอย่างไร? ด้านคนทำงาน พบความยากลำบากขององค์กรภาคสังคมในการหาช่องทางการระดมทุน การระดมทุน กิจการเพื่อสังคมมีช่วงระยะการทำงานที่แตกต่างกัน ในระยะแรก แนวความคิดอาจยังไม่ตกผลึกหรือรูปแบบโมเดลทางธุรกิจยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ การระดมทุนต้องเป็นการพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินให้เปล่า ซึ่งมีหลายช่องทาง การสมัครเข้าโครงการ Banpu Champion for Change ซึ่ง เป็นหนึ่งในช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อเริ่มทดลองทำแนวความคิดดังกล่าว การใช้แพลตฟอร์ม เช่น เทใจ ซึ่งเป็นการระดมทุนจากคนทั่วไปในการพัฒนาโครงการหรือแนวคิดให้เป็นรูปธรรม การนำเสนอต่อบริษัทที่ทำเรื่อง CSR ทีอาจมีจุดมุ่งหมายในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกิจการเพื่อสังคม เนื่องจากหลายบริษัทในไทยมีทีมงานหรืองบประมาณในการสนับสนุนงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว และหลายที่อาจมีงบประมาณแต่ไม่มีทีมทำงานของตนเอง ดังนั้นเขาอยากร่วมมือกับกิจการเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ มากกว่าลงมือทำเอง โดยบางองค์กรอาจใช้เวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน ในการเริ่มทำโมเดลต้นแบบและเริ่มตกผลึกโมเดลธุรกิจ แต่บางองค์กรอาจใช้เวลาถึง 3 ปี

ในระยะต่อมา แต่ละองค์กรเริ่มมีบันทึกผลการทำงาน (Track Record) และเริ่มชัดเจนในโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายผลลัพธ์ทางสังคมและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ซึ่งช่องทางการระดมทุนในช่วงนี้มีหลากหลายมากตั้งแต่ตามระบบทั่วไป การกู้ธนาคาร การนำเสนอแนวคิดให้กับนักลงทุนเหมือนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือการหานักลงทุนเพื่อสังคม (Angel Investor) ซึ่งมีหลายองค์กรภาคสังคมที่วางตัวเป็นคนกลางในการเชื่อมต่อกิจการเพื่อสังคมกับกลุ่มนักลงทุน เช่น Change Venture การเข้าร่วมแข่งขันต่าง ๆ ช่วยเปิดโอกาสให้เราได้พบนักลงทุนเพื่อสังคมหรือนักลงทุนทั่วไปที่มีความเชื่อในโมเดลธุรกิจของเรา การเตรียมตัวในการระดมทุน (เข้าพบผู้บริจาค นักลงทุนเพื่อสังคม หรือองค์กรตัวกลาง) การสื่อสาร เอกสารที่ใช้สื่อสาร ไม่ว่าเป็นสไลด์พรีเซ้นท์ (Presentation) หรือเว็บไซต์ ต้องคิดให้ตกผลึกว่าปัญหาใดที่ต้องการจะแก้ผ่านโมเดลกิจการเพื่อสังคมนี้ แม้ว่าโมเดลธุรกิจอาจยังไม่ชัดเจนแต่ต้องมีภาพเบื้องต้นที่สามารถอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมได้ว่ากิจการเพื่อสังคมหรือโมเดลดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการเพื่อสังคมต้องเข้าใจปัญหา เข้าใจตลาด และเข้าใจในงานที่ตนเองกำลังทำอยู่อย่างลึกซึ้ง ทีมงาน เป็นสิ่งที่นักลงทุนและผู้บริจาคให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เนื่องจากในตอนเริ่มต้น ผู้ประกอบการเพื่อสังคมอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นลูกค้า โมเดลการทำงานควรเป็นแบบใด วิธีหรือแนวคิดต่าง ๆ ใช้ได้ไหม จึงต้องมีการทดสอบสิ่งเหล่านี้ โดยทีมงานเป็นคนที่ให้ความมั่นใจในการเริ่มลองทำหรือการขยายผลการทำงานว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้องเพียงใด ทีมงานที่น่าสนใจคือทีมที่มีความเชื่อ (Passion) ในเรื่องที่ต้องการแก้ไขอย่างลึกซึ้ง และมีทักษะการทำงานครบถ้วนในทีม หมายถึงว่าทักษะต่าง ๆ อาจไม่ได้อยู่ในคนเพียงคนเดียว แต่เป็นการรวมกันของสมาชิกในทีมที่มีทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจของกิจการเพื่อสังคมนั้น ๆ คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ต้องการสมัครเข้าโครงการของเทใจหรือต้องการนำเสนอแนวคิดให้นักลงทุนเข้าใจงานของตนเอง เน้นรูปหรืองานที่ได้ทำมาแล้ว เพราะการมีข้อความเยอะ ๆ คนมักขี้เกียจอ่าน การติดตามเนื้อหาค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการสื่อสารกับนักลงทุนที่เป็นคนไทย ควรใช้ภาพหรือ Info Graphic มาเล่าให้เป็นรูปแบบที่เข้าใจง่ายขึ้น ย่อยง่ายขึ้น การเขียนบรรยาย เช่น Presentation ภาษาต้องกระชับและใจความชัดเจน ต้องเขียนให้เป็นภาษาคน ต้องเข้าใจว่าคนที่เข้ามาดูโครงการบนเทใจ ไม่ได้เข้าใจหรืออยู่กับปัญหาสังคมทุกวันทุกเวลาแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม ดังนั้นต้องเขียนเล่าเรื่องสิ่งที่ทำให้น่าสนใจ ไม่เวิ่นเว้อ และให้พื้นฐานข้อมูลของปัญหาอย่างเพียงพอ ต้องไม่เหมารวมว่าทุกคนต้องรู้ การศึกษาหาข้อมูลล่วงหน้า เอกสารหรือคลิปวิดีโอการสัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือรายการโทรทัศน์ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่ดี อีกทั้งเนื้อหาส่วนใหญ่จากสื่อต่าง ๆ มักเป็นการกลั่นกรองแล้วระดับหนึ่งเพื่อให้กระชับและเข้าใจง่าย จึงสามารถใช้เนื้อหาเหล่านี้ในการสร้างความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจมากขึ้น คำรับรองจากกลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วย เช่น องค์กรทำงานด้านการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส การมีคำพูดหรือภาพต่าง ๆ ของเด็ก ช่วยให้เห็นตัวชี้วัดได้ชัดเจนขึ้น ทำให้โครงการมีความหนักแน่นและน่าเชื่อถือมากขึ้น การเตรียมตัวในการนำเสนอแนวคิดต่อฝ่าย CSR ของบริษัท หาข้อมูลของบริษัทหรือองค์กร ซึ่งอาจมาจากข่าว CSR ของบริษัทหรือองค์กร ที่มีในเว็บไซต์ของบริษัทหรืออาจเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ของปีที่แล้วหรือปีก่อน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรูปแบบการทำ CSR มักไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากบริษัทสามารถเห็นความต่อเนื่องและความยั่งยืนของงานที่ทำ โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถศึกษาได้ล่วงหน้าจากกูเกิ้ล เมื่อทราบล่วงหน้าว่าองค์กรมีความสนใจในประเด็นที่เราทำงานอยู่ โอกาสที่จะโน้มน้าวให้เขาสนับสนุนเราได้ย่อมมีมากขึ้น พูดคุยและแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมด้วยกัน องค์กรตัวกลางต่าง ๆ ทีมจากบ้านปู หรือคนที่มีประสบการณ์ด้านนี้ เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกของวิธีการต่าง ๆ ในการนำเสนอแนวคิดให้กับฝ่าย CSR ของบริษัท เช่น บางองค์กรต้องผ่านหลายบอร์ดบริหาร ซึ่งอาจศึกษาว่าสมาชิกในบอร์ด CSR มีความสนใจในเรื่องใดบ้าง และควรนำเสนอแนวคิดอย่างไร ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องปรับโมเดลหรือเปลี่ยนแผนงานให้ตรงกันกับองค์กรหรือบริษัทที่ต้องการเข้าไปนำเสนอ แต่สามารถปรับวิธีการสื่อสารหรือการเล่าเรื่องให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น คำแนะนำถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ หรือผู้ที่สนใจ ต้องศึกษาให้เข้าใจปัญหาที่ต้องการแก้อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้รูปแบบของการแก้ปัญหานั้นมีความชัดเจนและการเล่าเรื่องหรือนำเสอนแนวคิดมีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือมากขึ้น ความสำเร็จมิได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนหรือข้ามปี หลายเรื่องต้องใช้เวลาหลายปี จึงอยากให้มีความตั้งใจจริงและมีพันธสัญญา (Committment) ในการทำงานด้านนี้ เนื่องจากคนทั่วไปมักมองว่าคนรุ่นใหม่มีความปราถนาแรงกล้า มีไฟในการทำงานสูง แต่ไม่ค่อยมีพันธสัญญาต่องานที่ทำ ซึ่งต้องพิสูจน์ความมุ่งมั่นของตนเองให้พวกเขารับรู้"