Video

ปันประสบการณ์ SE : S.H.E. กับการเป็น Start up เพื่อสังคม (EP 2/3)


คุณหมอพูลชัยแห่ง S.H.E. (Social Health Enterprise) จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมที่รักษาสังคม เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสได้มีทางเลือกในชีิวิต จนสามารถขยายผลได้ในระดับนานาชาติ

การนำภูมิปัญญามาสร้างนวัตกรรม

“ถ้าเราเห็นปัญหาของชุมชนและเราอยากแก้ปัญหาเฉพาะในชุมชนของเรา จะเป็นกิจการเพื่อสังคมได้ไหม? ตอบว่า เป็นได้แต่จะเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ไม่ยั่งยืน น้องจะเสียเวลา เสียพลังใจ”

“การพยายามนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับแต่งให้เข้าถึงง่ายเพื่อสามารถสร้างรายได้จากสิ่งนั้นได้

ต้องเข้าใจก่อนว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นแห่งหนึ่ง อาจไม่ได้รับการยอมรับในอีกแห่งหนึ่ง”

เราต้องสามารถปรับให้เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกยอมรับและอยากใช้ เช่น สตีฟ จ้อบส์ ออกแบบมือถือไอโฟนรุ่นแรกขึ้นมา ซึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้จากเดิมที่เป็นปุ่มกดกลายเป็นจอสัมผัส แล้วในปัจจุบันมือถือที่เป็นปุ่มกด เช่น โนเกียก็สูญสลายไป

สิ่งที่ SHE ทำคือการเอาความรู้เรื่องฤาษีดัดตนและเรื่องโยคะ มาผสานกับความรู้ทางการแพทย์เรื่องระบบประสาทอัตโนมัติ เรื่องความเครียด ตึง ล้า

ซึ่งเวลาเราไปอธิบายคนอื่น หากเราอธิบายถึงกระบวนการว่าต้องดึงแบบนี้เพื่อให้กล้ามเนื้อคลาย คนทั่วไปฟังไม่เข้าใจ

“การอธิบายเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับคนภายนอกฟังแล้วเข้าใจ เราต้องย้ายบทสนทนาพื้นฐานไปพูดในเรื่องที่พวกเขารู้จักคุ้นเคย” เช่น หมออธิบายถึงอาการบ่าตึง คอตึง หลังปวด ขาตึง ถ้าทุกหนึ่งความตึงคือหนึ่งแอพพลิเคชั่น และเปรียบร่างกายเราคือมือถือระบบแอนดรอย์ เรามี 30 แอพฯ กำลังทำงานอยู่ แอพฯ เหล่านั้นดึงพลังงานของแบตเตอรี่และลดผลการดำเนินงานของเครื่องเรา พอเราจะเปิดโปรแกรมเพื่อทำงานปรากฏว่าทำได้ช้ามาก ๆ ปกติแล้วเราก็ใช้โปรแกรมจัดการข้อมูลเพื่อลบแอพฯ พวกนั้นทิ้งไป แล้วเปิดแอฟฯ ที่เราต้องการขึ้นมาใหม่

ดังนั้นวิธีการสื่อสารของหมอคือ ร่างกายคุณตึงไปทั้งตัวเลยเหมือนมือถือคุณตอนนี้รันโปรแกรมอยู่ 20 แอฟฯ หมอจะทำหน้าที่เป็นโปรแกรมจัดการข้อมูล โดยใน 10 นาทีต่อจากนี้ หมอจะละลายแอฟฯ ความตึงที่ค้างอยู่ที่คอ บ่า หลัง และไหล่ของคุณให้หายไป และให้พลังงานวิ่งไปที่สมองคุณเพื่อทำงานได้มีประสิทธิภาพ เมื่อ 10 นาทีผ่านไป เขาได้พบผลลัพธ์จากการบำบัด เมื่ออนาคตเขาเป็นผู้สื่อสารให้คนอื่น เขาจะสื่อสารได้ดีและชัดเจน

“หากต้องการแก้ไขปัญหาสังคม ให้ลองนำนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาไปหากลุ่มคนด้อยโอกาสหรือกลุ่มคนที่หากได้ทำงานชิ้นนี้แล้วเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ”

ยกตัวอย่าง เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งคนสูงอายุถูกมองว่าเป็นภาระของสังคม ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยในญี่ปุ่นอยากมีชีวิตที่คล่องแคล่วหลังจากเกษียณแล้ว แต่ไม่มีงานให้เขาทำด้วยเศรษฐกิจที่หดตัว ซึ่งจากภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้คนในองค์กรเกิดความเครียดและความอ่อนล้าจากการทำงานที่มากเกินไป เป้าหมายเดิมของเราคือการสอนนักโทษหรือเด็กดอยที่ขาดโอกาส แต่สำหรับญี่ปุ่น เป้าหมายของเราคือการสอนคนที่กำลังเกษียณและมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อยากทำงานที่ได้ใช้แรงกาย ซึ่งพวกเขาสามารถกลับไปให้บริการกับพนักงานที่ยังอยู่ในบริษัทเดิมของพวกเขา หรือรวมกลุ่มกันและให้บริการตามสถานีรถไฟในเขตเมืองของพวกเขา คนที่เดินทางเข้าออกเมืองหรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางสามารถใช้บริการของพวกเขาได้ “แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราสร้างนวัตกรรมแล้ว ไม่ได้จำกัดว่าเราต้องทำงานกับคนกลุ่มเดียวเท่านั้น”

ในการสื่อสารกับภายนอกโดยเฉพาะในระดับโลก เราต้องนึกถึงสื่อพาหะที่จะพาเราไป ถ้าเราเข้าไปในฐานะธุรกิจปกติ เราจะเจอเรื่องทางลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา ข้อจำกัดด้านการค้าต่าง ๆ เช่น ธุรกิจด้านการบริการฟื้นฟูสมรรถนะทางร่างกาย เราต้องเจอสมาคมนักกายภาพบำบัด สมาคมนักจิตวิทยา สมาคมหรือองค์กรที่เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน

หากเราทำงานกับ UNDP หรือ UNODC ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด โดยให้องค์กรเหล่านี้ขายงานกับรัฐบาลแต่ละประเทศว่าสนใจงานเพื่อสังคมที่สามารถสร้างรายได้และยั่งยืนได้ด้วยตนเองโดยไม่สร้างภาระหรือก่อหนี้ให้กับรัฐบาลไหม? หากสนใจทางองค์กรจะแนะนำ SHE ให้

เวลาเลือกภูมิปัญญามาสร้างนวัตกรรม ให้คิดว่าสามารถขยายไปในระดับโลกได้อย่างไร? สามารถอธิบายให้คนทั่วโลกเข้าใจงานของเราได้ง่าย ๆ ได้อย่างไร? มีองค์ประกอบใดที่ช่วยให้เราก้าวข้าม ข้อจำกัดทางการค้าและนอกเหนือจากการค้า? เพราะถ้าคุณต้องการเป็นธุรกิจระดับสากล การทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด จะกินทุนและการเติบโตค่อนข้างยากมาก

แต่ถ้าเป็นกิจการเพื่อสังคมที่สามารถเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาข้อใดข้อหนึ่งใน 17 ข้อของ UNSDG เพื่อให้ UN สามารถแนะนำธุรกิจของเราให้กับประเทศอื่น ๆ เพื่อการบรรลุผลของ UNSDG

เช่น SHE ครอบคลุม UNSDG ได้ 7 ข้อ ทำให้มีรัฐบาล มหาวิทยาลัย หรือธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศต่าง ๆ พร้อมรับโมเดลของเราไปขยายผลต่อ

“เพราะความสุขของเราไม่ได้เกิดจากการกระทำในชื่อของเรา แต่เป็นการร่วมกันสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก”