Video
ทำความรู้จัก SE : CreativeMove การก้าวย่างอย่างมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ
คุณเอซ แห่ง CreativeMove ได้มาเล่าถึงการทำงานของบริษัท CreativeMove ที่เน้นการใช้ไอเดียเข้าช่วยให้การช่วยเหลือสังคมสามารถทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถพัฒนาจากการเป็นเพียงโครงการเพื่อสังคมกลายมาเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถหล่อเลี้ยงคนทำงานด้านสังคมได้
"คุณเอซ แห่ง CreativeMove ได้มาเล่าถึงการทำงานของบริษัท CreativeMove ที่เน้นการใช้ไอเดียเข้าช่วยให้การช่วยเหลือสังคมสามารถทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถพัฒนาจากการเป็นเพียงโครงการเพื่อสังคมกลายมาเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถหล่อเลี้ยงคนทำงานด้านสังคมได้
จุดเริ่มต้นของ CreativeMove
เริ่มจากการทำงานด้านการสร้างชุมชนใน Portfolio.net ซึ่งเป็นแหล่งรวมครีเอทีฟ นักศิลปะ นักออกแบบมารวมอยู่ด้วยกัน แล้วพบว่าหลายคนมีความต้องการใช้ทักษะความเชี่ยวชาญที่ตนเองมีในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หลังจากนั้นได้ทำงานอาสากับองค์กรเพื่อสังคมและพบข้อเท็จจริงว่าองค์กรจำนวนมากมีความต้องการความช่วยเหลือด้านครีเอทีฟ ศิลปะ การออกแบบ เช่น บางองค์กรจัดทำกิจกรรมบางอย่างที่มีความน่าสนใจมาก แต่เมื่อสื่อสารออกไปแล้วกลับมีผู้เข้าร่วมงานน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้
จึงเห็นโอกาสของทั้งสองกลุ่มคือ กลุ่มที่อยากช่วยกับกลุ่มที่ต้องการความข่วยเหลือ จึงอยากสร้างองค์กรหรือแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงทั้งสองฝั่งเข้ามาทำงานร่วมกัน ทั้งนี้เรามีความเชื่อว่างานอาสามักไม่ยั่งยืน จึงคิดว่าต้องมีรายได้หรืองบประมาณที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและผลตอบแทนให้กับผู้ทำงาน จึงก่อตั้ง CreativeMove ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงฝั่งครีเอทีฟที่ต้องการแก้ปัญหาสังคมกับกลุ่มองค์กร ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่มีงบประมาณเพียงพออยู่แล้วให้มาเจอกันเพื่อเกิดเป็นโครงการเพื่อสังคมที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง อีกทั้งช่วยให้การใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้องและคุ้มค่า
ผลงานของ CreativeMove
ผลงานชิ้นล่าสุดคืองานออกแบบโปรแกรม CSR ให้กับ MBK group เราได้รับโจทย์ว่าทางองค์กรต้องการนำกระดาษเหลือใช้ในที่ทำงานซึ่งมีพนักงานหลักพันคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรารับโจทย์กลับมาคิดกับทีมงานและนำแนวคิดกลับไปเสนอลูกค้าคือ การนำกระดาษเหลือใช้มาให้นักออกแบบ 6 คน ช่วยออกแบบเป็นสินค้าตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ และของใช้ต่าง ๆ โดยนำไปให้องค์กรผู้พิการเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายผ่านทาง MBK Group โดยรายได้จากการจำหน่ายสินค้ามอบให้กับองค์กรผู้พิการ
นักออกแบบที่เราทำงานด้วยเป็น 3 นักออกแบบที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวด และอีก 3 นักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับแถวหน้าที่เราเชิญมาร่วมโครงการ
ส่วนองค์กรผู้พิการที่เราทำงานด้วยคือ มูลนิธิบ้านแสงสว่าง โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ พระประแดง จ.สมุทรปราการ
ในแง่การพัฒนาศักยภาพผู้พิการ โครงการนี้ช่วยให้เกิดการจ้างงาน และผลงานทั้งหมด 900 ชิ้น สามารถจำหน่ายได้หมดภายใน 2 เดือน และรายได้ทั้งหมดถูกมอบให้มูลนิธิเพื่อคนพิการ
อีกโครงการที่กำลังทำคือ โครงการ Greenery ซึ่งมีแนวคิดการกินดี กรีนดี หรือ Eat Good Live Green
เรามีเป้าหมายในการเชื่อมโยงกลุ่มคนเมืองให้เข้าถึงทรัพยากรอาหารปลอดภัย อาหารอินทรีย์ต่าง ๆ และพบเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัยได้ง่ายดายขึ้น โดยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และเฟสบุคเพื่อนำเสนอบทความและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องและสร้างชุมชนให้คนเข้าใจเรื่องอาหารปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ได้จัดตลาด Greenery Market เพื่อให้คนเมืองเข้าถึงอาหารปลอดภัยโดยมีเกษตรกรจากหลายที่ทั่วประเทศเข้ามาขายสินค้า
ช่วงที่ผ่านมาได้จัดตลาดไปทั้งหมด 5 ครั้งซึ่งสามารถเชื่อมโยงเกษตรกรกับคนเมืองให้มาเจอกันได้เกือบหมื่นคน โดยมีคนเข้าร่วมงานครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3000 คน ส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้าเกษตรในแต่ละครั้งประมาณ 300,000 บาท สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นหลักล้านเหมือนกัน
ในขณะเดียวกันตลาด Greenery ช่วยให้คนเมืองได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าที่ดี ราคาสมเหตุสมผล และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีการฝึกสอนการทำอาหารปลอดภัยด้วยวิธีที่ง่ายและรวดเร็วซึ่งเหมาะสำหรับคนเมือง มีการจัดการเยี่ยมชมฟาร์มหรือลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมเกษตรกรและได้รู้จักผู้ที่ปลูกผักหรือทำอาหารปลอดภัยให้เรา ได้เรียนรู้กระบวนการปลูกผักที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง
โดย Greenery เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส.และได้พันธมิตรคือ Siam Discovery ซึ่งเป็นภาคเอกชนในการสนับสนุนด้านพื้นที่ในการจัดงานกิจกรรม โดยปกติเราจัด Greenery Market ทุกเดือนตลอดปี
เป้าหมายในการทำงาน
ต้องการปรับรูปแบบการทำงานจากเดิมที่ต้องมีผู้สนับสนุนเป็นการสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงาน ซึ่งอาจเป็นโมเดลแบบกิจการเพื่อสังคม ทั้งทางด้านสื่อเรื่องอาหารปลอดภัย การจัดฝึกอบรมหรือสัมมนาที่ให้ความรู้คนทั่วไปในเรื่องการเข้าถึงอาหารปลอดภัยหรือการทำอาหารปลอดภัย หรือแม้แต่การลงพื้นที่เยี่ยมชมเกษตรกรหรือผู้ที่ทำอาหารปลอดภัย ซึ่งช่วยให้เขาได้เรียนรู้และสร้างความรู้ให้กับพวกเขา ในขณะเดียวกันพวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย
เป้าหมายระยะยาวคือการผันตัวเองทำการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับคนเมืองให้มาเจอกัน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลอยู่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน จะเก็บสินค้าคงคลังเองหรือว่าจะเป็นศูนย์กลางให้กับคนที่ขายสินค้าอยู่แล้ว โดยให้ผู้ขายเป็นฝ่ายส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อเอง
สิ่งที่อยากบอกในการทำกิจการเพื่อสังคม
มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจัดตั้งกิจการเพื่อสังคมขึ้นมาเพื่อต้องการแก้ปัญหาใด และมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนในการสร้างรายได้ว่าเป็นแบบใดเพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงาน
ปัญหาที่ต้องเผชิญ
ในช่วงแรกประสบปัญหาเรื่องการเงินและการบัญชี เนื่องจากการตั้งราคาสินค้าหรือการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับเรา
ในช่วงแรกของการขายบริการ เรากำหนดราคาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากเราไม่ได้คำนวนเผื่อเงินเดือนของตนเองหรือต้นทุนคงที่ต่าง ๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายด้วยความที่เราไม่อยากคิดค่าบริการสูงนัก เมื่อทำงานไปสักพักจึงเรียนรู้ว่าในการตั้งราคาสินค้าและบริการต้องคำนวนจากต้นทุนก่อน ต้องทราบจำนวนพนักงาน ประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องคำนวนทั้งหมดก่อนแล้วจึงคิดว่าต้องการกำไรเท่าไหร่เพื่อให้องค์กรดำเนินงานต่อไปได้ด้วยตนเอง จากนั้นจึงกำหนดเป็นราคาสินค้าและบริการนั้น ๆ
ทิศทางต่อยอดในอนาคต
ปัจจุบัน CreativeMove ทำงานสองด้านคือ ด้านพัฒนานวัตกรรมสังคม และด้านการสื่อสาร
ในส่วนด้านพัฒนานวัตกรรมสังคม เรากำลังมองว่าจะเปิดบริษัทลูกในเร็ว ๆ นี้
ส่วนเรื่อง Greenery กำลังวางโมเดลว่าจะสามารถแยกออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่งในอนาคตได้หรือไม่
และอีกโครงการใหม่ที่กำลังลงทุนคือด้านกาแฟ โดยเร็ว ๆ นี้อาจทำกาแฟอินทรีย์ด้วย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดกับ Greenery ที่วางแผนจะจัดตั้งเป็นกิจการเพื่อสังคมในอนาคตเช่นเดียวกัน
คำแนะนำ
ส่วนตัวคิดว่าการทำกิจการเพื่อสังคมต้องทดลองทำหลาย ๆ อย่างด้วยตนเองก่อนในช่วงแรก แนะนำว่าให้เริ่มจากทีมที่เล็กที่สุดก่อนและพยายามทำทุกอย่างเอง จากนั้นค่อยเติบโตตามขนาดของลูกค้าที่มี เพราะการที่ได้เรียนรู้และทำทุกอย่างเองมาก่อนทำให้รู้ว่ามีงานอะไรบ้างที่ต้องทำ เมื่อวันที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องมีคนเข้ามาช่วยในส่วนนั้น เราสามารถรู้ได้ว่างานนั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง และสามารถหาคนที่มาช่วยทำงานแทนเราได้
“อย่าพยายามขยายทีมให้เร็วเกินไป เพราะจะมีต้นทุนคงที่ตามมาพอสมควร พยายามทำทีมให้เล็กซึ่งแนวโน้มของการทำงานในปัจจุบันคือการมีทีมเล็ก ๆ และใช้การการจ้างงานจากภายนอก (Outsource) เป็นส่วนใหญ่
การสื่อสารไปสู่สังคมและผู้บริโภค
สินค้าหรือบริการต้องมีความแตกต่างโดดเด่นจากสิ่งอื่นที่คนอื่นมีอยู่แล้ว ถ้ามีคนทำอยู่แล้วก็ไม่ควรทำเหมือนกัน หรือถ้าจำเป็นต้องทำก็พยายามหาจุดเด่นหรือจุดขายของตนเองให้เจอ และพยายามไม่ใช้ประเด็นเรื่องสังคมมาเป็นจุดเด่นของสินค้า อยากให้ใช้คุณภาพของสินค้าที่ดีเป็นจุดขาย เพราะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อเนื่องกัน “อย่าให้คนซื้อเพราะคิดว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมได้หรือเพราะสงสาร แต่ให้คนซื้อเพราะสินค้ามีคุณภาพดีแล้วรายได้จากการขายนั้นช่วยให้สังคมหรือสิ่งแวดล้อมดีขึ้น การสื่อสารต้องชัดเจนว่า สินค้าเรามีจุดเด่นอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ในส่วนนี้จึงเริ่มเล่าเรื่องว่าการซื้อสินค้าของเราช่วยนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไรบ้าง เครื่องมือในการสื่อสาร เช่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ โลโก้ หรือฉลากของสินค้า หากออกแบบได้แตกต่าง ชัดเจน น่าสนใจ ย่อมช่วยให้ขายสินค้าได้ดีขึ้น หากไม่มีงบประมาณในการทำงานหรือมีงบประมาณไม่มาก ทาง CreativeMove มีเครื่องข่าย Creative Citizen ซึ่งคือเครือข่ายอาสาสมัครที่ทำงานด้านครีเอทีฟ ศิลปะ การออกแบบ ที่ช่วยทำงานพัฒนาทั้งการออกแบบ การช่วยคิดโปรเจคต่าง ๆ เช่น โครงการ WANITA ที่ทำงานร่วมกับองค์กร Oxfam โดยเข้าไปช่วยเรื่องการสื่อสารและ พัฒนาสินค้าของชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งช่วงแรกมีแค่ 20 ชุมชน เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจุบันสามารถขยายเป็น 50 ชุมชน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา โดยทางทีมได้ช่วยพัฒนาโลโก้ ทำเว็บไซต์ ช่วยเรื่องการสื่อสารออนไลน์ทั้งเฟสบุคหรือสื่อทางสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งการทำงานเริ่มจากการให้คำแนะนำเรื่องสินค้าว่าควรปรับปรุงหรือพัฒนาอย่างไรเพื่อให้ขายได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันชุมชนต่าง ๆ ได้นำงานที่เราได้เข้าไปช่วยมาพัฒนาต่อยอดกันเอง
สรุป
CreativeMove มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงฝั่งครีเอทีฟที่ต้องการแก้ปัญหาสังคมกับกลุ่มองค์กร ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่มีงบประมาณเพียงพออยู่แล้วให้มาเจอกันเพื่อเกิดเป็นโครงการเพื่อสังคมที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง อีกทั้งช่วยให้การใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้องและคุ้มค่า การทำกิจการเพื่อสังคมต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจัดตั้งกิจการเพื่อสังคมขึ้นมาเพื่อต้องการแก้ปัญหาใด และมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนในการสร้างรายได้ว่าเป็นแบบใดเพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงาน ปัญหาที่ต้องเผชิญ คือเรื่องการเงินและการบัญชี เนื่องจากการตั้งราคาสินค้าหรือการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ในช่วงแรกได้กำหนดราคาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากไม่ได้คำนวนเผื่อเงินเดือนของตนเองหรือต้นทุนคงที่ต่าง ๆ ที่เป็นค่าใช้จ่าย เมื่อทำงานไปสักพักจึงเรียนรู้ว่าในการตั้งราคาสินค้าและบริการต้องคำนวนจากต้นทุนก่อน ต้องทราบจำนวนพนักงาน ประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องคำนวนทั้งหมดก่อนแล้วจึงคิดว่าต้องการกำไรเท่าไหร่เพื่อให้องค์กรดำเนินงานต่อไปได้ด้วยตนเอง จากนั้นจึงกำหนดเป็นราคาสินค้าและบริการนั้น ๆ คำแนะนำ การทำกิจการเพื่อสังคมต้องทดลองทำหลาย ๆ อย่างด้วยตนเองก่อนในช่วงแรก แนะนำว่าให้เริ่มจากทีมที่เล็กที่สุดก่อนและพยายามทำทุกอย่างเอง จากนั้นค่อยเติบโตตามขนาดของลูกค้าที่มี เพราะการที่ได้เรียนรู้และทำทุกอย่างเองมาก่อนทำให้รู้ว่ามีงานอะไรบ้างที่ต้องทำ เมื่อวันที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องมีคนเข้ามาช่วยในส่วนนั้น เราสามารถรู้ได้ว่างานนั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง และสามารถหาคนที่มาช่วยทำงานแทนเราได้ อย่าพยายามขยายทีมให้เร็วเกินไป เพราะจะมีต้นทุนคงที่ตามมาพอสมควร พยายามทำทีมให้เล็กซึ่งแนวโน้มของการทำงานในปัจจุบันคือการมีทีมเล็ก ๆ และใช้การการจ้างงานจากภายนอก (Outsource) เป็นส่วนใหญ่ การสื่อสารไปสู่สังคมและผู้บริโภค สินค้าหรือบริการต้องมีความแตกต่างโดดเด่นจากสิ่งอื่นที่คนอื่นมีอยู่แล้ว ถ้ามีคนทำอยู่แล้วก็ไม่ควรทำเหมือนกัน หรือถ้าจำเป็นต้องทำก็พยายามหาจุดเด่นหรือจุดขายของตนเองให้เจอ และพยายามไม่ใช้ประเด็นเรื่องสังคมมาเป็นจุดเด่นของสินค้า ใช้คุณภาพของสินค้าที่ดีเป็นจุดขาย เพราะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อเนื่องกัน อย่าให้คนซื้อเพราะคิดว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมได้หรือเพราะสงสาร แต่ให้คนซื้อเพราะสินค้ามีคุณภาพดีแล้วรายได้จากการขายนั้นช่วยให้สังคมหรือสิ่งแวดล้อมดีขึ้น การสื่อสารต้องชัดเจนว่า สินค้ามีจุดเด่นอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ในส่วนนี้จึงเริ่มเล่าเรื่องว่าการซื้อสินค้าช่วยนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไรบ้าง เครื่องมือในการสื่อสาร เช่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ โลโก้ หรือฉลากของสินค้า หากออกแบบได้แตกต่าง ชัดเจน น่าสนใจ ย่อมช่วยให้ขายสินค้าได้ดีขึ้น หากไม่มีงบประมาณในการทำงานหรือมีงบประมาณไม่มาก ทาง CreativeMove มีเครื่อข่าย Creative Citizen ซึ่งคือเครือข่ายอาสาสมัครที่ทำงานด้านครีเอทีฟ ศิลปะ การออกแบบ ที่ช่วยทำงานพัฒนาทั้งการออกแบบ การช่วยคิดโปรเจคต่าง ๆ"