Video
ปันประสบการณ์ SE : S.H.E. กับการเป็น Start up เพื่อสังคม (EP 1/3)
คุณหมอพูลชัยแห่ง S.H.E. (Social Health Enterprise) จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมที่รักษาสังคม เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสได้มีทางเลือกในชีิวิต จนสามารถขยายผลได้ในระดับนานาชาติ
S.H.E. (Social Health Enterprise) กับการเป็น Start up เพื่อสังคม (หมอพูลชัย)
จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมที่รักษาสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสได้มีทางเลือกในชีวิต จนสามารถขยายผลได้ในระดับนานาชาติ
วิสาหกิจสุขภาพชุมชน บ้านกึ่งวิถี SHE
เริ่มต้นทำกิจการเพื่อสังคมอย่างไร?
เราต้องเริ่มจากมองปัญหาให้เป็นก่อน ซึ่ง UNSDG 17 ข้อ ได้บอกปัญหาที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ และเมื่อศึกษาลงรายละเอียด เราจะเห็นตัวชี้วัดหรือ KPI ที่บอกรายละเอียดของปัญหา จากนั้นเรากลับมาดูรายงานประเทศไทยว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่เรายังทำได้ไม่ดี
เราจะค้นหาทางแก้ปัญหาอย่างไร?
การที่เราจะเริ่มทำอะไร มี 3 เรื่องที่ต้องคิด คือ เงิน คน ของ
น้องมีเงินหรือยัง? เอาคนมาจากไหน? คนหาเงินได้ไหม? การทำงานอย่างไร?
ตามกรอบของ UNSDG ตัวชี้วัดแต่ละตัวจะมีกรมกองต่าง ๆ เป็นผู้ดูแล ซึ่งภาครัฐทราบดีว่า การทำงานที่มีประสิทธิภาพคือการร่วมมือกับภาคประชาชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคม
ภารกิจของกิจการเพื่อสังคม คือการแก้ไขปัญหาสังคมโดยกระบวนการทางธุรกิจที่เติบโต ยั่งยืน และสร้างผลกระทบทางบวกได้ เริ่มจากเราสังเกตจากเรื่องที่ประชาชนบ่น เพราะเสียงบ่นคือเสียงความรู้สึกของประชาชนที่คนทำงานภาครัฐต้องตอบสนอง
ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการสังคม เราต้องมีนวัตกรรมหรือกระบวนการทางธุรกิจที่ทันสมัยกว่าภาครัฐ และกระบวนการนี้สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ โดยไม่เพิ่มภาระให้กับประชาชนหรือภาครัฐ แต่เป็นการทำงานที่เชื่อมความรู้และความสามารถที่ทั้งสองภาคขาดหายไป
“เราเหมือนเป็นตัวเสริมเข้าไปแล้วทำให้วงจรการพัฒนาหมุนเร็วขึ้น เกิดคุณค่าที่ทุกคนมองเห็นได้”
ในช่วง 1 – 2 ปีแรก การพิสูจน์ว่าเราสามารถสร้างผลกระทบทางสังคมเชิงบวกได้นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย การสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและภาคท้องถิ่นต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจ
“หากเราต้องการเติบโตแบบกิจการเพื่อสังคม เราต้องเป็นกิจการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เช่น Social Giver”
SHE แก้ปัญหาอะไร
ปัญหาที่พบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือคนทำงานมากเกินไป ทำงานดึกดื่น ติดยูทูป ไล่ตั้งแต่เด็กติดเกม จนคนแก่ติดไลน์ พวกเราถูกเคี่ยวเข็ญให้ทำงานมากมาย เช่น หัวหน้าสั่งงานตอนสี่ทุ่มแล้วให้ส่งงานตอนหกโมงเช้าวันถัดไป ความทรมานของการทำงานแบบนี้ทำให้เกิด Workplace stress (ความเครียด/อ่อนล้าจากการทำงานที่มากเกินไป)
ซึ่งเชื่อมโยงกับความดันสูง เหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน แน่นหน้าอก ปวดศรีษะ ตื่นกลางดึก ฉี่บ่อย ใจสั่นเต้นเร็ว โดยอาการเหล่านี้เกิดจากความตึงค้างของกล้ามเนื้อทั้งร่างกาย ซึ่งเกิดจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ผิดปกติ
“จึงเกิดประกายในการสร้างนวัตกรรมในการดัดจัดสรีระโดยไม่ต้องใช้ยาและทำให้อาการตึงค้างกลับสู่ปกติ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาข้อ 3 ของ UNSDG คือเรื่องสุขภาวะ (Wellness) โดยเราค่อนข้างแน่ใจว่าโมเดลนี้จะยั่งยืนและทำรายได้ได้ เพราะมีฐานลูกค้าจำนวนมาก”
ตามหาลูกค้าได้อย่างไร?
เรามีกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหาความเครียดหรือความอ่อนล้าจากการทำงานที่มากเกินไป นวัตกรรมของเราในตอนแรกคือบริการครั้งละ 1 ชั่วโมง สามารถแก้ไขได้ทั้งตัว ทั้งนี้คนในปัจจุบันส่วนใหญ่คุ้นเคยกับบริการผ่านทางมือถือ หากเราต้องการปรับเปลี่ยนงานบริการของเราให้เข้ากับพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน งานของเราต้องสั้นและได้ประสิทธิภาพมากกว่านั้น ในแง่นี้ เราได้ย่อยข้อมูลเพื่อให้สามารถเรียนจบหลักสูตรได้ภายใน 1 เดือน แล้วนำไปสอนกลุ่มสตรีด้อยโอกาสที่อยู่ในเรือนจำและเด็กด้อยโอกาส
สิ่งที่กิจการเพื่อสังคมต้องทราบ
UNSDG ข้อ 17 เขียนว่า Partnership for Goal หมายความว่า อย่าทำงานคนเดียว เรารู้ว่ามีคนต้องการใช้บริการจำนวนมาก เรามองเห็นว่ามีผู้ต้องขังหญิง 40,000 คนในเรือนจำ และเด็กดอยอีก 60,000 คน โดยมีเป้าหมายคืออยากให้ครอบครัวของพวกเขาเลิกทำเกษตรอันตราย
เราจึงร่วมงานกับดอยตุง ซึ่งจากข้อมูลของดอยตุงพบว่า ถ้าครอบครัวมีรายได้เดือนละ 4,000 บาททุกเดือน การทำไร่เลื่อนลอยหรือการบุกรุกป่าจะลดลง และสามารถทำไร่นาสวนผสมได้
การเข้ามาเป็นกิจการเพื่อสังคมต้องมองปัญหาของไทยให้ออก ปัญหาใดยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือยังแก้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากการฟังเสียงบ่น แล้วสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เสียงบ่นหายไป แล้วนำนวัตกรรมนั้นไปคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้
“ระบบนิเวศน์ของกิจการเพื่อสังคมก็เกิด มีตลาด มีนวัตกรรม มีผู้ซื้อ มีผู้ขาย มีผู้ให้บริการ และคิดให้มีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี”
ปัจจุบันมีกรอบแนวคิด มีสมาคม SE Thailand มีพวกพี่ ๆ ที่พร้อมให้ความรู้เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย
พวกเรายินดีให้คำแนะนำว่ามีกลไกของรัฐ องค์กรสหประชาชาติ ตลาดหลักทรัพย์ หรือกลไกตรงไหนที่ทำให้เกิดความร่วมมือกับลูกค้าของเราหรือองค์กรที่สนับสนุนเรา
ยกตัวอย่าง SHE เราทำให้ผู้ต้องขังหญิงที่เคยมีความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยความเป็นผู้หญิงและผู้ต้องโทษด้วย เราลดเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมและในด้านเพศ เราทำเรื่องสุขภาวะให้ดีขึ้น เราคืนผืนป่าและน้ำสะอาดกลับมา เราช่วยแก้ปัญหายาเสพย์ติด
ต้องคิดระดับโลก?
กิจการเพื่อสังคมต้องคิดเรื่องการขยายผลตั้งแต่ต้น ต้องคิดว่าเราจะขยายไปประเทศต่าง ๆ ได้อย่างไร? มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการเคลื่อนย้ายธุรกิจของเราอย่างไร ถ้าเราไม่ใช่ธุรกิจออนไลน์ แต่เป็นธุรกิจแบบปกติ เราจะก้าวข้ามประเทศต่าง ๆ และเข้ากับวัฒนธรรมของเขาได้อย่างไร รายละเอียดเหล่านี้ต้องศึกษาและออกแบบการบริการให้เหมาะสม
เช่น ชุดบริการของเราต้องปรึกษากรรมการอิสลามว่าขัดต่อหลักศาสนาของอิสลามไหม? การให้ผู้หญิงที่เป็นคนอิสลามมาทำการรักษาให้กับผู้หญิงด้วยกันหรือผู้ชาย มีสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนาไหม?
ความไม่เหมาะสม?
เราออกแบบการให้บริการจนกระทั่งภาพการนวดเฉพาะจุด (นวดแอบแฝง) ไม่เกิดขึ้นในธุรกิจของเราเพราะเราออกแบบการบำบัดของเรามีการสัมผัส ระหว่างกันน้อยมากและไม่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเร้า
“นอกจากคิดระดับโลกแล้วต้องทดสอบความคิดด้วยว่าไม่เป็นไรจริง ๆ”