Video

ทำความรู้จัก SE : TP solution นวัตกรรมการทำตลาดภาชนะรักษ์โลก (EP 2/2)


ป๊อบและภัฏ 2พี่น้องผู้เติบโตในเยาวราชย่านการค้าเก่าได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกผ่านการสร้างนวัตกรรมการขายภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยสาเหตุที่ว่า "เรารอให้มีคนทำตลาดภาชนะเหล่านี้มานับ 10 ปีแต่ขยะโฟมก็ยังไม่ลดลง ดังนั้นเราเองนี่แหละที่ต้องทำ"

แนวทางแก้ปัญหาอย่างที่ 9 สร้างการยอมรับในมารตฐานเดียวกัน

ป๊อบ: บรรจุภัณฑ์หลายชนิดโดยเฉพาะโฟมต้องใช้พลังงานสูงในการทำลายส่งผลให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือ Carbon Footprint ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเราต้องการนำเสนอเรื่องนี้ให้กับสังคม จากการที่เราเห็นร้านค้าส่วนมากมักนำรูปดาราหรือคนมีชื่อเสียงมาติดไว้ จึงเกิดความคิดให้ร้านค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกติดประกาศว่าร้านสามารถช่วยลด Cabon Footprint ลงได้เท่าไหร่? เป็นการประกาศสิ่งดี ๆ ที่เขาได้ทำให้สังคมรับรู้

โดยเราได้ติดต่อกับโครงการ (ฟังไม่ชัด) ที่ทำงานด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในไทย เพื่อศึกษาการประเมินผลและการออกเกียรติบัตร จากนั้นเราทดลองทำเองก่อนเพื่อให้ร้านค้าหรือร้านอาหารได้มีประสบการณ์และรับรู้ถึงประโยชน์ของการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

“ร้านอาหารทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก แต่ร้านอาหารในโรงเรียนหรือโรงพยาบาลกลับให้ความสนใจมาก เราจึงเจาะตลาดกลุ่มนี้เป็นหลัก”

แนวทางแก้ปัญหาอย่างที่ 10 ทางเลือกด้านการเงิน

ป๊อบ: ด้วยความที่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีราคาที่สูงกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไป และเราทราบว่ากลุ่มพ่อค้าแม่ค้ามักมีปัญหาในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เราจึงร่วมงานกับธนาคารหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายสามารถใช้บัตรเครดิตในการซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจากเราได้ (กำหนดให้ใช้ซื้อสินค้าจากเราเท่านั้น) จากโมเดลนี้ทำให้เราได้ข้อมูลการซื้อสินค้าและรายรับของกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เราสามารถช่วยวางแผนทางการเงิน และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ประกอบการขอกู้จากธนาคารได้การแสดงสลิปเงินเดือน

เมื่อเราทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย ผลตอบรับค่อนข้างดี แต่สิ่งที่เกิดคือทางธนาคารไม่สามารถอนุมัติบัตรเครดิตได้รวดเร็ว เราจึงเปลี่ยนรูปแบบจากบัตรเครดิตเป็น QR Code แทน โดยกลุ่มเป้าหมายสามารถสแกน QR Code แทนการจ่ายเงินสด ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกขโมยโดยคนขับรถส่งของได้อีกด้วย

ภาพรวมของสมาชิกในเครือข่าย

ป๊อบ: เรามีแม่ค้าประมาณ 500 ราย และมีร้านค้าที่เป็นจุดกระจายสินค้าประมาณ 30 ราย และมีกระจายไปตามจังหวัดอื่น ๆ เช่น จันทบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ เชียงใหม่ นครราชสีมา

กลุ่มเป้าหมาย

ป๊อบ: กลุ่มที่เปลี่ยนยากที่สุดคือกลุ่มแม่ค้า แต่เป็นกลุ่มที่ใช้ผลิตภัณฑ์เยอะที่สุด โดยเราต้องทำให้พวกเขาหันมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกให้ได้มากที่สุด เราต้องศึกษาว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไร แต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกัน หากมองผิวเผินจะคิดว่ามีปัญหาเดียวกันคือราคาแพงกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ราคาถูกกว่าเขาก็ไม่ซื้ออยู่ดี ดังนั้นเราต้องคุยกับพวกเขาในแต่ละพื้นที่เพื่อรับรู้ปัญหาและแก้ไข

ความผิดพลาดที่ทำให้เสียเวลา

ภัฎ:

ติดกับโมเดลการแก้ปัญหาอันใดอันหนึ่งมากเกินไป เช่น เราเคยนำเสนอกล่องให้กับลูกค้าแล้วได้รับผลตอบรับดีมาก ทำให้เรามุ่งแต่เรื่องการทำตลาดและการโฆษณา จนเราลืมคิดถึงฝั่งการผลิตว่ามีปัญหาใดบ้าง ผลที่ออกมาคือทุกฝ่ายชอบสินค้าเรา ยกเว้นฝ่ายการผลิตที่ไม่สามารถผลิตให้เราได้ตามแบบ “เราคิดจะทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนในวันแรกเลยไม่ได้ สิ่งที่เราควรคิดคือการหาสมดุลย์ให้กับทุกฝ่าย” สุดท้ายเราต้องถอยออกมาและทำสินค้าที่เหมาะกับเราในตอนนั้นแทน โดยเก็บโมเดลนั้นไว้ก่อนเพื่อรอวันที่เหมาะสมในอนาคต ป๊อบ:

ใช้ราคาเป็นตัวตัดสินใจในการเลือกผู้ผลิต เช่น โมเดลบัตรเครดิตที่เราเลือกธนาคารจากราคาที่ถูกที่สุด ซึ่งผลปรากฏว่าการทำงานของเขาค่อนข้างช้ามาก สุดท้ายเราต้องเปลี่ยนโมเดล “หากย้อนกลับไปได้ เราจะพิจารณาเลือกผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการจากระบบการทำงานและราคาที่เหมาะสม”

สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น

ป๊อบ: การได้ลงแข่งในโครงการของบ้านปู เพราะเราสนใจในกิจการเพื่อสังคม แต่เราไม่รู้ว่าต้องเริ่มจากตรงไหนบ้าง? เมื่อเราลงแข่งทำให้รู้ว่าเราต้องพัฒนาด้านไหน อย่างไร และทำให้เราได้เจอเพื่อนดี ๆ อีกมากมายที่ช่วยเติมเต็มและต่อยอดโมเดลของเราให้มาได้ไกลจนทุกวันนี้

ภัฎ: ทัศนคติของเราสองคนที่มองตรงกันในเรื่องการทดลองทำโดยไม่ต้องลงทุนเยอะ การทดสอบความคิดหรือโมเดลของเรากับตลาดเพื่อดูความเป็นไปได้และผลตอบรับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมาย เราจึงไม่ต้องเสียเวลาในการเข้าหานักลงทุน ทำให้เราสามารถทดสอบตลาดได้เร็วกว่า ลงพื้นที่หากลุ่มเป้าหมายได้เร็วกว่า และปรับเปลี่ยนโมเดลได้เร็วกว่าหลาย ๆ คน

“เราสนุกกับการได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา และได้เห็นโมเดลของเราถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ”

“เสน่ห์ของกิจการเพื่อสังคมคือการทำงานให้เร็ว การขับเคลื่อนให้เร็ว ล้มเร็ว ลุกเร็ว เราถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”

ป๊อบ: ทีมของเราไม่ยึดติดกับอะไรเลย ทำให้เราเปลี่ยนโมเดลไปเรื่อย ๆ ซึ่งรวมถึงการบริหารองค์กรของเราด้วย โดยเราเน้นการจ้างคนจากข้างนอกมาทำในบางส่วนที่เราไม่สามารถทำได้ (Outsourcing) ทำให้เราสามารถขยายตัวได้เร็วขึ้น

ภัฎ: ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เรากำลังทำโมเดล หนึ่งแพคก็ส่งได้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าต่างจังหวัดที่ไม่ต้องการเก็บสินค้าไว้เยอะ ๆ ทำให้เราต้องมีพนักงานขายในการเก็บข้อมูลหรือติดต่อร้านค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างมาก แต่เราเลือกใช้บริษัทที่มีระบบคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) เพื่อทำงานให้เรา ทำให้บริษัทของเราไม่มีต้นทุนคงที่ในการจ้างพนักงานขาย ซึ่งอาจเป็นการทำร้านบริษัทในกรณีที่โมเดลนี้ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่โมเดลของการขาย เราทำงานร่วมกับขนส่งเพื่อฝากสินค้าไปให้ลูกค้ามารับสินค้าเองได้

“การจ้างคนจากภายนอกเป็นการลดความเสี่ยงและภาระด้านต้นทุนของบริษัท โดยเฉพาะในช่วงทดลองโมเดลต่าง ๆ หากในอนาคตโมเดลที่ทำอยู่ประสบความสำเร็จอย่างดี เราค่อยหาคนมาทำงานประจำเพื่อลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงยังได้เช่นกัน”

ก้าวต่อไป

ป๊อบ: เป้าหมายใน 1-3 ปีคือมีการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกทั่วประเทศ ดังนั้นเราต้องทำให้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกกระจายไปทั่วประเทศ และต้องไม่ทำให้ต้นทุนของแต่ละคนเพิ่มขึ้นจนเป็นภาระ และต้องทำให้ชีวิตของแต่ละคนดีขึ้นให้ได้

ภัฏ: เราต้องการขยายความครอบคลุมออกไปสู่ตลาดต่างจังหวัดและเข้าถึงกลุ่มแม่ค้ารายย่อยที่ไม่ต้องการเก็บสินค้าเยอะ ๆ ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการติดต่อกับขนส่งและทีมคอลเซ็นเตอร์ในการเก็บข้อมูล

อีกโมเดลที่เราสนใจมากคือโมเดลที่ทำงานกับกลุ่มที่ซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อบริจาคให้วัดซึ่งเป็นกลุ่มที่มีวอลลุ่มค่อนข้างใหญ่ และปัญหาของพวกเขาคือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้ ทั้งที่พวกเขามีความสนใจในผลิตภัณฑ์ โดยเราพยายามออกแบบช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

จากบุคคลกลายมาเป็นบริษัท

ป๊อบ: ทางกฏหมายมีกำหนดไว้แล้วว่าควรจดบริษัทเมื่อมีรายได้ 1,800,000 บาทต่อปี เรายึดจุดนี้เป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่มีการติดต่อธุรกิจกับบริษัทอาจต้องเริ่มจดทะเบียนบริษัทในช่วงที่กำลังมีการติดต่อธุรกิจกันเพราะฝั่งบริษัทเองย่อมต้องการติดต่อกับบริษัทด้วยกัน

จัดการการเงินอย่างไร?

ป๊อบ: ด้วยความที่เราทำงานกันสองคนและต้องการใช้ทรัพยากรบุคคลให้น้อยที่สุด ธุรกิจของเราส่วนมากเป็นการขายสินค้าและรับเงินสด เราพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นการโอนเงินแทนการจ่ายเงินสด เพื่อลดเวลาในการจัดการลงและทำให้เรามีเวลาในการบริหารจัดการหรือทำเรื่องอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

ฝากถึงผู้ที่กำลังเริ่มธุรกิจ

ป๊อบ: ปัญหาในโลกมีเยอะมาก และการรอให้ใครสักคนมาแก้ปัญหาคงต้องรอไม่มีวันสิ้นสุด สิ่งที่ดีที่สุดคือเมื่อเราเห็นปัญหาแล้วให้ลงมือทำเลย ลงไปเจอลูกค้าของเรา ลงไปเจอกับปัญหา เพื่อรับรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และแก้ปัญหานั้นให้ได้

ภัฎ: อย่าเริ่มต้นด้วยความรู้สึกว่าตนเองตกเป็นเหยื่อ หลาย ๆ คนที่เข้ามาทำกิจการเพื่อสังคมเคยประสบหรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับปัญหานั้นมาก่อน ทำให้เรารู้สึกอินกับปัญหานั้น และเมื่อเรารู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่อจากปัญหา เราจะเริ่มมองหาความช่วยเหลือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราเป็นฝ่ายที่ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหรือป้องกันไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อ สิ่งที่เราต้องทำคือการหา win – win situation (สถานการณ์ที่ทุกคนล้วนได้ประโยชน์) ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกิจการเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

สรุป

การทดสอบตลาดและโมเดลกิจการเพื่อสังคม TP solution กับนวัตกรรมการทำตลาดภาชนะรักษ์โลก การทำความเข้าใจกับปัญหา เริ่มจากการเป็นผู้ขายโดยการไปเสนอขายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกตามร้านค้าต่าง ๆ เพื่อทราบถึงเหตุผลที่ไม่ซื้อ และคิดว่าปัญหาคืออะไร? ผ่านการพูดคุยกับพวกเขาไปเรื่อย ๆ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามสั่ง (Customize Packaging) การออกแบบแพคเกจมีความสำคัญและสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ จึงลงพื้นที่เพื่อทำแบบสอบถามจากกลุ่มแม่ค้าและคนขายของโดยพัฒนาสินค้าต้นแบบขึ้นมาจากวัสดุทั่วไปด้วยวิธีการที่ง่ายและลงทุนต่ำ การกระจายจุดจำหน่ายสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เริ่มคุยกับตัวแทนจำหน่ายเพื่อทราบถึงสาเหตุที่ไม่จำหน่ายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ทำให้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วมีความต้องการและมีความสนใจในบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แต่ไม่สามารถหาซื้อได้ จากช่องว่างนี้จึงคิดโมเดลการกระจายสินค้า โดยติดต่อสถานที่บางแห่งที่ไม่ได้ถูกใช้งานตลอดวัน เช่น โรงเรียนกวดวิชาที่เปิดเฉพาะตอนเย็น หรือร้านกาแฟ เพื่อให้เป็นจุดกระจายสินค้าสำหรับร้านค้าและแม่ค้าในบริเวณนั้น เป็นการสร้างการตระหนักรู้ (Awareness) ถึงปัญหาในวงกว้างมากขึ้น โดยที่เราไม่ต้องลงทุนเยอะ ผู้บริโภคมีส่วนรับผิดชอบในต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก โดยนำป้ายกระดาษไปวางไว้ตามร้านค้าหรือรถเข็นเพื่อเก็บข้อมูลจากผู้บริโภค ผลที่ได้รับคือเกิดความขัดแย้งด้านราคาและมีข้อจำกัดจากภายนอก เช่น ขัดต่อกฏของเทศกิจ จึงสรุปว่าไม่ใช้โมเดลนี้ต่อ การออกร้านหรืองานต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งได้ผลตอบรับไม่ค่อยดีเพราะสถานที่ไม่ได้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าแบบประจำ ร้านค้าส่วนใหญ่มักซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจากร้านประจำอยู่แล้ว โมเดลนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จ ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เพื่อถวายพระหรือทำบุญ โมเดลธุรกิจต้องมีความชัดเจนและสามารถเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นได้ ซึ่งปัญหาในการแก้ไขปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์คือการไม่ได้ลงไปแก้ปัญหาในทุกส่วนของห่วงโซ่มูลค่า ทั้งฝ่ายผลิต ตัวแทนจำหน่าย ร้านค้าหรือแม่ค้า และผู้บริโภค การบริหารจัดการสินค้า (Stock Planning) เพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มแม่ค้าและร้านที่จำหน่ายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก การแชร์สินค้า (Stock Sharing Community) เข้าไปดูแลในแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดการแชร์สินค้าภายในชุมชน โดยมีข้อมูลปริมาณสินค้าของแต่ละร้านที่เข้าร่วมระบบ แล้วให้แต่ละร้านจัดเก็บสินค้าแตกต่างกันโดยสร้างระบบที่แต่ละร้านสามารถจัดส่งสินค้าให้กันและกันได้ นอกจากนี้สามารถเฉลี่ยรายได้ให้เท่ากันได้ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้ TP แตกต่างจากโรงงานผลิต อีกทั้งเป็นการป้องกันคู่แข่งมาแย่งกลุ่มแม่ค้าและร้านค้า เนื่องจากต้นทุนการออกจากระบบมีมากกว่า เพราะเมื่อพวกเขาออกจากระบบแล้ว พวกเขาจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลการจัดเก็บสินค้าและขาดคนช่วยบริหารจัดการด้านนี้ สร้างการยอมรับในมารตฐานเดียวกัน โดยให้ร้านค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกติดประกาศว่าร้านสามารถช่วยลด Cabon Footprint ลงได้เท่าไหร่? เป็นการประกาศสิ่งดี ๆ ที่เขาได้ทำให้สังคมรับรู้ ทางเลือกด้านการเงิน ด้วยความที่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีราคาที่สูงกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไป และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ามักมีปัญหาในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน จึงร่วมงานกับธนาคารหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายสามารถใช้บัตรเครดิตในการซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจาก TP ได้ (กำหนดให้ใช้ซื้อสินค้าจาก TP เท่านั้น) จากโมเดลนี้ทำให้ได้ข้อมูลการซื้อสินค้าและรายรับของกลุ่มเป้าหมาย จึงสามารถช่วยวางแผนทางการเงิน และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ประกอบการขอกู้จากธนาคารแทนการแสดงสลิปเงินเดือน ความผิดพลาดที่ทำให้เสียเวลา ยึดติดกับโมเดลการแก้ปัญหาอันใดอันหนึ่งมากเกินไป ซึ่งเราไม่สามารถสร้างสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนได้ในวันแรก สิ่งที่ควรคิดคือการหาสมดุลย์ให้กับทุกฝ่าย ใช้ราคาเป็นตัวตัดสินใจในการเลือกผู้ผลิต ซึ่งควรพิจารณาเลือกผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการจากระบบการทำงานและราคาที่เหมาะสม ความสำเร็จ เริ่มต้นจากการได้เข้าร่วมโครงการของบ้านปู ทำให้รู้ว่าเราต้องพัฒนาด้านไหน อย่างไร และทำให้ได้เจอเพื่อนดี ๆ ที่ช่วยเติมเต็มและต่อยอดโมเดลให้มาได้ไกลจนทุกวันนี้ การทดสอบความคิดหรือการทดลองโมเดลโดยไม่ต้องลงทุนเยอะ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเข้าหานักลงทุน ทำให้สามารถทดสอบตลาดได้เร็วกว่า ลงพื้นที่หากลุ่มเป้าหมายได้เร็วกว่า และปรับเปลี่ยนโมเดลได้เร็วกว่า เสน่ห์ของกิจการเพื่อสังคมคือการทำงานให้เร็ว การขับเคลื่อนให้เร็ว ล้มเร็ว ลุกเร็ว จึงสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ การบริหารองค์กร เน้นการจ้างคนจากข้างนอกมาทำในบางส่วนที่ไม่สามารถทำได้เอง (Outsourcing) ทำให้สามารถขยายตัวได้เร็วขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงและภาระด้านต้นทุนคงที่ของบริษัทโดยเฉพาะในช่วงทดลองโมเดลต่าง ๆ หากในอนาคตโมเดลประสบความสำเร็จ สามารถหาพนักงานประจำเพื่อลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้เช่นกัน การบริหารการเงิน พยายามใช้ทรัพยากรบุคคลให้น้อยที่สุด เช่น พยายามเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นการโอนเงินแทนการจ่ายเงินสด เพื่อลดเวลาในการจัดการลงและทำให้มีเวลาในการบริหารจัดการหรือทำเรื่องอื่น ๆ ได้ดีขึ้น เมื่อเห็นปัญหาแล้วให้ลงมือทำเลย ลงไปเจอลูกค้า ลงไปเจอกับปัญหา เพื่อรับรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และแก้ปัญหานั้นให้ได้ อย่าเริ่มต้นด้วยความรู้สึกว่าตนเองตกเป็นเหยื่อ เพราะเราจะเริ่มมองหาความช่วยเหลือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราเป็นฝ่ายที่ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหรือป้องกันไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อ สิ่งที่เราต้องทำคือการหา win – win situation (สถานการณ์ที่ทุกคนล้วนได้ประโยชน์) ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกิจการเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน