Video

ปันประสบการณ์ SE : พัฒนาแผนธุรกิจแบบ TP (ep 2/2)


จากประสบการณ์ของป๊อบและภัฏที่เป็นทั้งคนที่พัฒนาธุรกิจของตัวเองและไปช่วยคนอื่นพัฒนาแผนธุรกิจ สุดท้ายแล้วธุรกิจจะเกิดขึ้นได้จากเพียงประโยคเดียวได้อย่างไร ลองมาดูกัน

วัตถุประสงค์ด้านสังคม

ภัฏ: เริ่มจากเจตนารมณ์ของเรา สมมติเราเดินไปเจอผู้พิการทางสายตา แล้วเราเกิดเจตนาว่าอยากทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ให้เขียนเป็นประโยคเลย แล้วลองอ่านดูว่าเราสงสัยในจุดไหน? โดยต้องเปิดใจกว้าง ๆ จากประโยคนี้เราเกิดความสงสัยว่า คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นคืออะไร? เราก็จดไว้เพื่อไปหาคำตอบจากการถามผู้พิการทางสายตาว่าคุณภาพชีวิตของเขาเป็นอย่างไร? และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นคืออะไร?

เมื่อได้คำตอบแล้ว เรามาปรับเจตนารมณ์เดิมของเราตามคำตอบที่ได้รับมา ซึ่งเราจะมีคำถามให้เราต้องหาคำตอบเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นวงจรนี้จะไม่สิ้นสุดและทำให้ธุรกิจของเราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

การเขียนเจตนารมณ์ (Statement)

ภัฏ: เริ่มจากเขียนเจตนาธรรมดาก่อน แล้วมองให้ครบทั้ง 4 มิติตามที่กล่าวไปแล้ว ถ้าเรายังเห็นภาพไม่ชัด หน้าที่คือต้องลงไปหาข้อมูลเพื่อทำให้ภาพชัดขึ้น และเมื่อเราเห็นภาพคุณค่าและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดขึ้นแล้ว เราจะเริ่มคิดได้ว่าต้องใช้วิธีใดในการมอบคุณค่านี้ให้กับกลุ่มเป้าหมายของเรา เมื่อเราได้วิธีการแล้วเราพิจารณาได้ว่าต้องใช้ทรัพยากรใดบ้างในการสร้างวิธีการหรือโมเดลนี้

พอเราเห็นภาพชัดทั้ง 4 มิติแล้ว เราลองทดสอบโมเดลกับตลาดและเมื่อเราได้ลูกค้ารายแรก เราก็เริ่มธุรกิจได้เลย โดยเราปรับเจตนารมณ์ไปด้วยระหว่างทาง

ป๊อบ: เจตนาเริ่มแรกของ TP คือให้คนใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แล้วเราเริ่มหาคำตอบว่าใครคือกลุ่มที่ใช้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ และได้คำตอบคือกลุ่มแม่ค้า จากนั้นเราลงไปเก็บข้อมูลว่าทำไมเขาถึงไม่ใช้ เมื่อได้คำตอบว่าเพราะราคาสูง ทำให้ชีวิตเขาแย่ลง เราก็ปรับเจตนาของเราใหม่ เป็นการให้แม่ค้าใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกแล้วคุณภาพชีวิตดีขึ้น จะเห็นได้ว่าจากเดิมที่เราแค่ต้องการขายบรรจุภัณฑ์ กลายเป็นเราเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของแม่ค้าให้ดีขึ้นด้วย

ภัฏ: เหมือนกับเราค่อย ๆ แก้ไปทีละปัญหา ซึ่งทุกปัญหาตอบโจทย์เดียวกันคือทำให้แม่ค้าใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

สำหรับคนที่มีโมเดลหรือวิธีการแก้ปัญหาอยู่แล้ว และอยากทำบางสิ่งเพื่อสังคม เขาจะเริ่มต้นอย่างไร?

ภัฎ: ต้องมองใน 4 มิติเหมือนเดิม คนที่มีโมเดลหรือวิธีการแก้ปัญหาที่จากความเชี่ยวชาญของตน แสดงว่าเขามีทรัพยากรและวิธีการแล้ว จากนั้นก็คิดต่อว่า คุณค่าหรือกลุ่มเป้าหมายที่ได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญหรือโมเดลของเขาคืออะไร? ซึ่งระหว่างทางที่เขาหาคำตอบย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบใน 4 มิตินี้อยู่ดี

หรือถ้าเขามีแรงจูงใจ (Passion) ในเรื่องใด ให้เริ่มจากเรื่องนั้นจะง่ายขึ้น

เช่น เราเชี่ยวชาญด้านการสอนหนังสือ และเราอยากทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาดีขึ้น เราอาจเขียนเจตจำนงว่า อยากให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาดีขึ้นโดยการสอนหนังสือ แล้วค่อยหาคำตอบว่าคุณภาพชีวิตที่ดีคืออะไร? แล้วมีข้อไหนที่เติมได้ด้วยการสอนหนังสือ ทีนี้เจตจำนงของเราก็สมบูรณ์ขึ้น

ผู้ประกอบการที่ทำให้เราสิ้นหวัง

ภัฏ: เราเรียกกลุ่มนี้ว่า นาโต้ (No Action, Talk Only) คือกลุ่มที่พูดอย่างเดียวไม่ลงมือทำ ธุรกิจจะไม่เกิดและปัญหาจะไม่ถูกแก้

“ปัญหาสังคมต้องการคนที่ลงมือทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง แต่เป็นคนที่พร้อมลงไปแก้ปัญหาและพัฒนาตัวเองทีละเล็กละน้อยไปเรื่อย ๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย”

3 เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง

ป๊อบ: ในช่วงเริ่มแรกเราทดสอบหลายโมเดลมาก เพื่อปรับเปลี่ยนและแก้ปัญหาไปทีละจุด โดยการทดลองใช้แต่ละโมเดลทำให้เรายิ่งเข้าใจปัญหาและคิดโมเดลใหม่เพื่อมารับมือกับบริบทที่เปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ

ภัฏ: กุญแจหลักคือการเปลี่ยนให้เร็ว คิดอะไรได้แล้วให้ทำเลย และทำให้ง่ายที่สุด อย่าคิดเยอะคิดซับซ้อน เพราะทำให้เสียเวลา

ป๊อบ: อาจเพราะเราเริ่มต้นด้วยการใช้ทุนที่น้อยทำให้เราปรับเปลี่ยนได้เร็ว แต่บางคนที่ลงทุนเยอะ เขาอาจรู้สึกเสียดายจึงไม่ค่อยอยากเปลี่ยนทั้งที่เขาอาจรู้อยู่ว่าโมเดลนี้ไม่ได้ผล

ภัฏ: อีกประเด็นสำคัญคือการตอบโจทย์ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายของเรา เช่น กลุ่มลูกค้า TP ไม่ซื้อของออนไลน์ ดังนั้นเราไม่ต้องเสียเวลาหรือทรัพยากรในการสร้างเว็บไซต์หรือทำการตลาดออนไลน์ เราต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของเรา อย่าทำตามกระแส

สรุป

อุปสรรคในการเริ่มต้นทำธุรกิจ คนส่วนใหญ่มักมองเรื่องการขาดเงินทุน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่ควรมองเป็นอุปสรรคเพราะจะทำให้ยึดติดและไปต่อไม่ได้ ควรคิดว่าทุนที่ต้องการได้มา จะนำไปใช้ทำอะไรบ้าง? และคิดย้อนกลับว่าในการได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน มีวิธีไหนบ้างที่ใช้เงินทุนน้อยที่สุด? การทดสอบโมเดลหรือต้นแบบซึ่งยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์ว่าเป็นอย่างไร? จึงควรใช้งบที่น้อยเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการก่อน ถ้าวิธีนี้ได้ผลลัพธ์ดี จึงค่อยลงทุน เพราะเงินที่ลงทุนไปต้องมีรายได้กลับมา ในการสร้างธุรกิจมี 4 เรื่องพื้นฐานที่ควรคำนึงถึงคือ เราสร้างคุณค่าอะไร? กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าคือใคร? เราใช้วิธีใดในการแก้ปัญหา? เราใช้ทรัพยากรอะไร? จากองค์ประกอบทั้ง 4 ส่วน สามารถพัฒนาเป็นการวางแผนเชิงปฏิบัติ (Action Plan) ต่อได้

คุณค่าทางสังคม กับ คุณค่าทางธุรกิจ เป็นเรื่องเดียวกันเพียงแต่การมองในเชิงสังคมหรือในเชิงธุรกิจเป็นการมองแค่ 1 มิติ ธุรกิจเพื่อสังคมคือการทำให้ภาคธุรกิจและภาคสังคมไปด้วยกันได้ซึ่งไม่ต่างจากการมองภาพธุรกิจให้ครบทุกมิติ หัวใจหลักของการแก้ปัญหาคือการเข้าใจปัญหาให้ได้มากที่สุด ไม่จำเป็นว่าต้องรู้ทุกเรื่องถึงจะเริ่มแก้ไขปัญหาได้ แต่เป็นการที่ทำไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย เพื่อให้เข้าใจปัญหาได้ลึกซึ้งขึ้นและสามารถแก้ปัญหาได้ทีละจุด โมเดลธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน การตั้งคำถามหรือวัตถุประสงค์มีความสำคัญมาก ต้องมีความชัดเจน มิฉะนั้นอาจทำให้หลงทางได้ และไม่ควรทำตามกระแส ควรศึกษาว่ามีรูปแบบโมเดลอะไรบ้างในธุรกิจที่กำลังทำ เพื่อสามารถนำโมเดลสำเร็จรูปเหล่านั้นมาทดลองและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทได้ วิธีการแก้ปัญหาควรปรับเปลี่ยนไปตามตลาด ตามกลุ่มเป้าหมาย ตามบริบทของปัญหาที่เปลี่ยนไป ซึ่งท้ายสุดแล้วโมเดลจะถูกปรับแต่งจนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะที่มีความเป็นตัวตนของเราอยู่ในนั้น ดังนั้นต้องคิดให้ชัดเจนว่าตัวตนของเราคืออะไร? และอยากให้สังคมเห็นตัวตนของเราเป็นแบบใด? การตั้งราคาสินค้าและบริการ ควรเริ่มจากคิดว่าสินค้าหรือบริการของเรามีคุณค่ากับใคร? แล้วคนที่ได้รับคุณค่านั้นมีความสามารถในการจ่ายสินค้าหรือบริการเท่าไหร่? ส่วนนี้สามารถเก็บข้อมูลได้จากการทำวิจัยการตลาด เปรียบเทียบกับคู่แข่ง โดยเก็บข้อมูลทั้งหมดแล้วพิจารณาว่ามูลค่าของสินค้าหรือบริการของเราอยู่ตรงจุดไหนในตลาด แล้ววางตำแหน่งของแบรนด์ของเราลงไป วัตถุประสงค์ด้านสังคม ควรเริ่มจากเจตนารมณ์ของเรา จากนั้นลองเขียนเป็นประโยคแล้วอ่านทวนว่าเราสงสัยในจุดไหน? โดยต้องเปิดใจกว้าง ๆ จากนั้นพยายามหาคำตอบจากการเก็บข้อมูลแล้วนำมาปรับเจตนารมณ์เดิมของเรา ซึ่งวงจรนี้จะไม่สิ้นสุดและทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ การเขียนเจตนารมณ์ (Statement) เริ่มจากเขียนเจตนาธรรมดาก่อน แล้วมองให้ครบทั้ง 4 มิติตามที่กล่าวไปแล้ว ถ้ายังเห็นภาพไม่ชัด ต้องลงไปหาข้อมูลเพื่อทำให้ภาพชัดขึ้น และเมื่อเห็นภาพคุณค่าและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดขึ้นแล้ว จึงเริ่มคิดได้ว่าต้องใช้วิธีใดในการมอบคุณค่านี้ให้กับกลุ่มเป้าหมายของเรา เมื่อได้วิธีการแล้วให้พิจารณาว่าต้องใช้ทรัพยากรใดบ้างในการสร้างวิธีการหรือโมเดลนี้ สำหรับคนที่มีโมเดลหรือวิธีการแก้ปัญหาอยู่แล้ว และอยากทำบางสิ่งเพื่อสังคม ควรเริ่มต้นด้วยการพิจารณาทั้ง 4 มิติเช่นกัน โดยคิดว่าคุณค่าหรือกลุ่มเป้าหมายที่ได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญหรือโมเดลของเขาคืออะไร? ซึ่งระหว่างทางที่เขาหาคำตอบย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบใน 4 มิตินี้หรือถ้าเขามีแรงจูงใจ (Passion) ในเรื่องใด ให้เริ่มจากเรื่องนั้นจะง่ายขึ้น ในช่วงเริ่มแรก ให้ทดสอบหลาย ๆ โมเดล เพื่อปรับเปลี่ยนและแก้ปัญหาไปทีละจุด โดยการทดลองช่วยทำให้เราเข้าใจปัญหาและคิดโมเดลใหม่เพื่อมารับมือกับบริบทที่เปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งกุญแจหลักคือการปรับเปลี่ยนให้เร็ว คิดอะไรได้แล้วให้ทำเลย และทำให้ง่ายที่สุด อย่าคิดเยอะคิดซับซ้อน เพราะทำให้เสียเวลา และไม่ควรเริ่มต้นด้วยการลงทุนที่เยอะเพราะส่วนมากมักไม่อยากเปลี่ยนโมเดลเพราะเสียดาย