Article
ดอยคำ…ธุรกิจเพื่อสังคม สร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรไทย
ดอยคำ…ธุรกิจเพื่อสังคม สร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรไทย
ปี 2537 ตอนนั้นคำว่า Social Enterprise ยังไม่เกิด นั่นทำให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร พระองค์พระราชทานแนวพระราชดำริไว้ว่า การตั้งบริษัท ดอยคำฯ ขึ้นนั้น ไม่ทรงต้องการเงินปันผล ขอให้บริษัท อยู่ได้ด้วยตัวเอง นี่คือสิ่งที่?พระองค์ท่านทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ตั้งแต่วันแรกของการประชุมจัดตั้งบริษัทฯ”
“พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด พูดถึงที่มาของ ดอยคำ ซึ่งเกิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกลของ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ที่ต้องการช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ โดยการนำวัตถุดิบที่ได้จากเกษตรกรชาวเขา มาเพิ่มมูลค่า สร้างให้เกิดรายได้เลี้ยงชีพ เมื่อกว่า 40 ปีก่อน โดยที่คำว่า Social Enterprise (SE) ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนไทยอย่างแพร่หลายเช่นปัจจุบัน
“ผมเห็นดอยคำมาตลอด พระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ ประทับที่หัวโต๊ะ แล้วพระราชทานแนวพระราชดำริให้แยกส่วนของโครงการหลวงออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ ดูแลเรื่องวิจัยและพัฒนา อีกส่วนเป็น บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เอาโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปทั้ง 4 แห่ง ที่ ฝาง แม่จัน เต่างอย และละหานทราย ออกมาตั้งเป็นบริษัท โดยมอบให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ถือหุ้น”
“คุณพงศ์” เล่าว่า ดอยคำเป็นงานแรกของเขา หลังจบจากอเมริกา คุณพ่อ (พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา) ส่งไปทำปริญญาโท ที่สหรัฐอเมริกา จบ MBA และ MPA ที่ University of Southern California พอกลับมาก็ได้ทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
และได้รับงานจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ดอยคำฯ ไปดำเนินการ ซึ่งตอนนั้นมีคนจากธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานทรัพย์สินฯ และเครือซิเมนต์ไทย เข้ามาช่วยบริหาร และวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา “คุณพงศ์” เข้ามารับตำแหน่งเต็มตัว โดยสำนักงานทรัพย์สินฯ ส่งมาลองงานดูก่อนตั้งแต่ปีที่แล้ว”
ดอยคำในยุคแรกๆ ทำยอดขายประมาณ 100 ล้านบาท จนปัจจุบันทำยอดขายมาเป็นกว่า 2,000 ล้านบาท แต่กว่าจะถึงวันนี้ ดอยคำล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร เพิ่งจะเติบโตมากๆ ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา จากกระแสคนรักสุขภาพ ประกอบกับคุณภาพสินค้าที่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะน้ำมะเขือเทศ ซึ่งถือเป็นพระเอกของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ที่สามารถทำยอดขายได้สูงสุดมาตลอด
การบริหารงานของดอยคำ จากโจทย์ตั้งต้นที่เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม ทุกอย่างในการดำเนินธุรกิจ คือ การมีวินัยทางการเงิน โปร่งใส ตรวจสอบได้ นั่นคือ สิ่งที่ดอยคำยึดถือมาตลอด แต่ในคำว่าธุรกิจ การทำงานก็ต้องมีกำไร เพราะจากรับสั่งของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 คือ อยากให้ดอยคำอยู่รอด เลี้ยงตัวเองได้ เป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ดังนั้น ราคาและคุณภาพสินค้าก็ต้องแข่งขันกับข้างนอกได้ และการที่องค์กรจะอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน คนในองค์กรก็ต้องอยู่ได้ รวมไปถึงคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องก็ต้องอยู่ได้
แนวทางในการดำเนินธุรกิจจึงยึดหลักความเป็นธรรมต่อคน 4 ฝ่าย ได้แก่ 1. พนักงาน ต้องอยู่ดีกินดีเสียก่อน เขาจึงจะช่วยเหลือคนอื่น 2. เป็นธรรมต่อเกษตรกรหรือซัพพลายเออร์ อย่างมะเขือเทศ ตลาดรับซื้อจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 3 บาท ดอยคำให้ 3.20 บาท แต่นั่นหมายความว่า คุณต้องส่งของที่มีคุณภาพเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้ ถือเป็นการสอดแทรกการสอนให้เกษตรกรรู้จักความซื่อสัตย์ ที่ต้องส่งของคุณภาพให้กับดอยคำจริงๆ โดยดอยคำมีทีมงานที่ลงไปสอน และส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักเรื่องของเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรประณีต เพื่อสร้างผลผลิตที่ดีมีคุณภาพไปพร้อมๆ กันด้วย 3. เป็นธรรมต่อผู้บริโภค สินค้าของดอยคำ ต้องได้ “มาตรฐานสากล ในราคาที่จับต้องได้” และ 4. เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม
หลักการทำธุรกิจของดอยคำ คือ การนำแนวพระราชดำริ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร มาเป็นกรอบปฏิบัติ แล้วนำมาปรับใช้ โดยมีการปรับตัวตามสถานการณ์มาเรื่อยๆ ผู้บริหารดอยคำทุกคน พร้อมที่จะเรียนรู้และแก้ไขตลอดเวลา เพราะโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
“คุณพงศ์” เล่าเพิ่มเติมว่า ตอนนี้กำลังสร้าง “ดอยคำโมเดล” ให้เป็นรูปเป็นร่าง หลังจากดำเนินการมาแล้ว?กว่า 5 ปี โดยการร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และพันธมิตรอื่นๆ สร้างมาตรฐานการปฏิบัติและการเก็บออมที่ถูกต้อง เช่น การการันตีให้เกษตรกรได้กู้เงินจาก ธ.ก.ส. และเมื่อเกษตรกรนำผลิตผลมาขายให้ดอยคำ บริษัท ก็จะจ่ายเงินเข้า ธ.ก.ส. เพื่อให้หักหนี้ก่อนคืนเกษตรกร เกษตรกรก็จะมีประวัติที่ดี มีเครดิตไลน์ที่ดีขึ้น ทำให้เขาสามารถกู้เงินมาลงทุนได้ต่อ และยังได้ทำในรูปแบบนี้กับปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อสร้างกฎระเบียบที่ดีให้กับเกษตรกร และทำให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังสร้างโรงเรือนสาธิตที่มีคุณภาพ ทำโครงการยุวเกษตร สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่…การบริหารทุกขั้นตอนยาก เราเลือกที่จะแก้ปัญหาแบบถาวร เราเดินตามรอยพระมหาชนก แก้กันตั้งแต่ทัศนคติ พร้อมๆ กับการให้ความรู้ ทำให้เกษตรกรรู้จักบริหารเงิน และเก็บออมไปพร้อมๆ กัน
ความท้าทายของการบริหารดอยคำในวันนี้ ยังมีทั้งเรื่องของเกษตรกร และธุรกิจ การขยายองค์กรให้เติบโต การแข่งขันในตลาด แผนงานของดอยคำ ยังคงขยายงานต่อไปเรื่อยๆ ภายในและนอกประเทศ สำหรับธุรกิจค้าปลีกปัจจุบัน ดอยคำมีร้านดอยคำทั้งหมด 35 แห่ง และยังมีร้านครอบครัวดอยคำที่มีเป้าจะขยายให้ครบทุกจังหวัดในรูปแบบแฟรนไชส์
“คุณพงศ์” ทิ้งท้ายว่า เขามีความศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ จากชีวิตที่เกิดมาสบาย และได้ไปเห็นความลำบาก เมื่อครั้งที่เคยตามเสด็จฯ ได้เห็นงานที่พระองค์ทรงทำ จึงบังเกิดเป็นแรงบันดาลใจ คือ เมื่อโตขึ้นจะมาช่วยเหลืองานของพระราชวงศ์ ทุกครั้งที่ได้ทำงานถวาย และเห็นคนรอบๆ มีความสุข ได้เห็นชีวิตที่อยู่ด้วยการเกื้อกูล เห็นอกเห็นใจกัน นั่นคือที่สุดของชีวิตแล้ว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ