Article
5 สิ่งที่ SE ต้องรู้เพื่อที่จะรอด
5 สิ่งที่ SE ต้องรู้เพื่อที่จะรอด
"ผู้ประกอบการหลายๆคนคงเคยมีคำถามที่ลอยขึ้นมาในใจว่า “ถ้าเราแค่รู้เรื่องพวกนี้ก่อน ชีวิตคงง่ายกว่านี้เยอะเลย” ผมเลยลอง post facebook เล่นๆว่า “สามอย่างที่ SE ต้องรู้เพื่อจะรอดได้ในปีแรก” เพราะผมก็อยากรู้จริงๆว่าถ้าหลายๆคนที่ผ่านประสบการณ์ที่ว่ามาแล้ว หากมองย้อนกลับไปมีอะไรบ้างที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจริงๆที่ต้องรู้และต้องทำให้เป็น โดยเฉพาะในช่วงการเริ่มต้นกิจการเพื่อสังคม ซึ่งก็จะเป็นสิ่งที่ถ้าเราจะออกแบบโครงการบ่มเพาะกันใหม่ ก็คงเป็นสิ่งที่เอามาใช้ได้เพราะเป็นคำตอบว่า SE ต้องรีบเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อที่จะแก้ปัญหาที่ว่าเนื้อหาที่อบรมหรือสอนในโปรแกรมบ่มเพาะบางทีไม่ค่อยจะตรงกับความสนใจหรือความต้องการจริงของ SE
แต่ผลที่ได้จากการโพสกลับไม่ใช่เล่นๆ มี SE และผู้ประกอบการที่ใส่ใจเรื่องสังคมตอบกลับมาเกือบสามสิบคน เลยกลายเป็นการทำสำรวจคร่าวๆไปซะงั้น หลายๆคนมาบอกผมผ่าน inbox ว่าหลายๆเรื่องที่พวกเขาตอบกลับมานั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาแทบไม่ได้ให้ความสำคัญเลยในช่วงเริ่มต้น และรู้สึกว่าถ้าทีมใหม่ๆได้รับรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ก็จะน่าจะทำให้ไม่ซวยมากนัก หรือลดปัญหาไปได้เยอะเมื่อเทียบกับพวกเขา ผมเลยสัญญาว่าจะรวบรวมผลแล้วนำมาสรุปให้ทุกคนได้ทราบให้สมกับที่ช่วยกันตอบ บทความนี้จึงเกิดขึ้นมาครับ
ผลที่ได้อันดับแรกๆของสิ่งที่ SE บอกว่าพวกเขาน่าจะรู้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเพื่อจะอยู่รอดได้ก็คือ
อันดับแรก ความเข้าใจปัญหาสังคมที่ตัวเองต้องการจะแก้ไขอย่างลึกซึ้งและจริงจัง รวมไปถึงความเข้าใจของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆว่าสถานการณ์ โครงสร้าง และผู้เล่นเป็นอย่างไร อีกอย่างหนึ่งที่ต่อเนื่องมาที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจในปัญหาและความต้องการของลูกค้าหรือผู้ที่เราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา อันดับสอง โมเดลทางธุรกิจและการจัดการต้นทุนกำไร ว่ารายได้มาจากทางไหนได้บ้างอย่างไร ทำไมเขาต้องจ่ายเราอย่างยั่งยืน เราสร้างประโยชน์และคุณค่าอะไรให้ใครบ้างอย่างไร ต้นทุนต่างๆเป็นอย่างไรกันแน่ และความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนกำไรที่ทำให้สามารถดำเนินการไปได้จนตลอดรอดฝั่ง อันดับสาม มีหลายประเด็นที่ได้คะแนนเท่ากัน การเข้าใจตัวเอง ความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจของผู้ประกอบการ ในส่วนนี้หลายๆบอกทำนองว่าคือความสามารถที่จะเข้าใจตัวเอง การเห็นตัวเองว่าสนใจในเรื่องอะไรจริงๆ มีแรงบันดาลใจกับเรื่องนั้นๆ จนมีเชื่อมั่นที่จะก้าวพ้นอุปสรรคต่างๆได้ การสร้างทีมงานที่มีความเชื่อเดียวกัน และมีศักยภาพ คือการค้นหาและรวบรวมคนที่มีศักยภาพความสามารถให้มาร่วมทีมกัน สร้างให้เกิดมีความเชื่อไปในทางเดียวกัน และพัฒนาให้ทำงานกันเป็นทีมได้จริงๆ การทดลองตลาด หมายถึงการสร้างสินค้าหรือบริการแล้วรีบไปทดสอบความต้องการของตลาดว่ามีอยู่จริงหรือไม่ สนใจไปในทางไหน สามารถได้ feedback หรือข้อคิดเห็นที่สามารถนำไปพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาดจริงๆได้ หลายๆคนบอกว่าต้องรีบทำแม้จะอยู่ในขั้นต้นแบบก็ตาม ไม่เช่นนั้นก็อาจไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจริงๆผลตอบรับของลูกค้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งสำหรับกิจการเพื่อสังคมลูกค้าอาจจะหมายถึงทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสินค้าบริการ และผู้จ่ายเงินซึ่งในบางกรณีอาจจะไม่ใช่กลุ่มเดียวกันก็เป็นได้ แต่ก็ย่อมจะมีความซับซ้อนขึ้น จึงยิ่งต้องรีบทดสอบตลาดให้รวดเร็ว เพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์และสามารถปรับทิศทางได้แต่เนิ่นๆ ไม่รอจนเงินทุนใกล้หมดแล้วถึงจะเริ่มปรับ ทักษะธุรกิจและการบริหารจัดการ ส่วนนี้หลายๆคนบอกว่าอยากจะเข้าใจว่าองค์ประกอบในการที่จะต้องจัดการธุรกิจในระยะเริ่มต้นนั้นมีอะไรสำคัญๆบ้าง ตั้งแต่การทำสินค้าหรือบริการ การขาย การสื่อสาร การจัดการเรื่องเงินและบัญชี การจัดการทีม การระดมทุน และการวัดผลทางสังคม เป็นต้น อย่างน้อยให้พอจะวางแผนได้จริงๆจะได้แบ่งงานหรือหาคนมาช่วยในส่วนที่ตัวเองทำไม่ไหวได้ อันดับสี่ คุณภาพและคุณค่าของสินค้าและบริการ บางคนเน้นย้ำมากๆว่าหัวใจของธุรกิจใดๆก็คือคุณภาพและประโยชน์ของสินค้าและบริการ ยิ่งเป็น SE ยิ่งต้องทำให้ได้ ต้องแข่งขันได้ มีคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่หวังพึ่งความสงสารหรือความเห็นใจแต่อย่างเดียว ไม่เช่นนั้นก็ย่อมจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะกลางถึงยาว นอกจากนั้นเรื่องคุณค่าก็ยิ่งทวีความสำคัญสำหรับ SE เพราะถ้าสินค้าหรือบริการนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจับต้องได้จริงๆ ก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่การสร้างความแตกต่างและความสามารถในการแข่งขันของกิจการได้ในระยะยาว อันดับห้า “ความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะเรื่องความสามารถที่จะนำพาทีมงาน หุ้นส่วน ผู้สนับสนุน และเครือข่ายที่ตัวเองทำงานอยู่ให้ก้าวพ้นอุปสรรคต่างๆไปได้อย่างต่อเนื่อง การไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น การผลักดันให้งานเดินต่อไปได้แม้จะเจอสภาพวิกฤตต่างๆ นอกจากห้าอันดับที่กล่าวมาแล้วก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่มีหลายๆคนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การเข้าถึงช่องทางการขาย การตลาดและการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ การเข้าถึงที่ปรึกษา / mentor การที่จะเลือกทำและให้ความสำคัญ (focus) และการระดมทุน
การสรุปผลนี้ผมพยายามรวบจัดกลุ่มเอาจากคำตอบที่หลากหลาย หากออกมาไม่ตรงนักก็ต้องขออภัย แต่อย่างน้อยคงพอเห็นทิศทาง และผลที่ได้นี้ทำให้เห็นได้ว่ากิจการเพื่อสังคมก็มีเรื่องที่ต้องรู้ต้องทำให้เป็นซึ่งไม่ได้ต่างไปกับธุรกิจอื่นๆมากนัก เพียงแต่มีมิติเชิงสังคมที่เสริมขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะการเข้าใจปัญหาที่เราต้องการจะแก้จริงๆไปจนถึงความสามารถที่จะวัดและแสดงผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งก็อาจจะทำให้การทำธุรกิจเพื่อสังคมนั้นอาจจะยากกว่าหรือยุ่งกว่าธุรกิจทั่วๆไปเสียอีก
ถ้าคุณเป็น SE หรือจะสร้าง SE ใหม่ขึ้นมา คุณพอจะเข้าใจและทำเป็นเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ได้ดีแค่ไหนแล้ว มีสิ่งไหนที่อาจจะยังอ่อนหรือยังพัฒนาต่อได้อีกบ้าง ?
สำหรับโครงการบ่มเพาะหรือหน่วยงานที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมต่างๆ หากจะนำเอาประเด็นต่างๆที่ SE บอกว่าพวกเขาน่าจะรู้ตั้งแต่ต้นมาใช้ในการออกแบบการอบรมหรือการสนับสนุนความรู้และทักษะของผู้ประกอบการเพื่อสังคม ก็น่าจะได้ประโยชน์ครับ
แล้วผู้อ่านมีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไรไหมครับ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร ช่วยแนะนำกันได้ครับ
ผมขอนำเอา screen capture คำตอบของหลายๆคนที่น่าสนใจมาให้ดูกันด้านล่างนี้ มีบทเรียนของแต่ละคนที่น่าเรียนรู้มากๆ ขอบคุณทุกคนที่มาช่วยกันตอบครับ
"