Article

ถอดบทเรียนจาก SE Skill Share ครั้งที่ 4!


กิจกรรมเสวนาโดยโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change: BC4C) ครั้งนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ “เปิดโลกทรัพยากรการเงินเพื่อสังคม” ต่อเนื่องจากกิจกรรมก่อนหน้าที่เน้นประเด็นของการเข้าถึงโอกาสในการขายและการระดมทุน เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้กิจการที่เข้าฟังกิจกรรมเสวนาสามารถหาแหล่งเงินทุน และมีเงินหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจและใช้แก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง . เสวนาครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากกลุ่มสถาบันที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ถือทรัพยากรการเงิน มาร่วมพูดคุยกันว่า กิจการเพื่อสังคมต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างหากสนใจจะเข้ามาพูดคุยกับสถาบันเหล่านี้ และแต่ละสถาบันมีแนวทางการสนับสนุนอย่างไรเพื่อให้กิจการเพื่อสังคมในแต่ละระยะของธุรกิจสามารถเตรียมความพร้อมได้ดีมากยิ่งขึ้น . สำหรับคนที่ไม่ได้เข้าฟังกิจกรรมเสวนานี้ แอดมินได้สรุปเนื้อหาสำคัญเพื่อนำมาถ่ายทอดให้ทุกท่านได้อ่านกันแล้วค่ะ #Banpuchampionsforchange12 #BC4C12 #SocialEnterprise #SE #SESkillShare

ภาพประกอบเนื้อหา

รูปแบบการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม

💬 คุณธนาวุฒิ ศุภางคะรัตน์ บทบาทของ สวส. คือ การสนับสนุนกิจการที่ขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว ซึ่งจะได้รับประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ มีความยืดหยุ่นในกระบวนการระดมทุนจากประชาชนที่มีความเข้มงวดน้อยกว่ากิจการปกติ โอกาสได้รับการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานรัฐแบบเฉพาะเจาะจงที่ไม่มีข้อจำกัดด้านมูลค่า เป็นต้น .

💬 คุณณัฐยา บุญภักดี ทาง สสส. มีการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบให้เงินทุนไปจนถึงการจัดซื้อของทั้งบุคคลและนิติบุคคล โดยมูลค่าของการสนับสนุนนั้นจะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของนวัตกรรมที่มานำเสนอ เช่น ถ้าอยู่ในระยะแนวคิดหรือระยะต้นแบบก็จะได้รับทุนสนับสนุนที่ไม่เกิน 200,000 บาท แต่หากเป็นระยะขยายผลสามารถรับการสนับสนุนที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ .

💬 คุณอธิชา ชูสุทธิ์ ผู้ประกอบการสามารถเข้ารับการสนับสนุนได้หลายช่องทาง เช่น นวัตกรรมขนาดเล็กสามารถติดต่อผ่านพันธมิตรอย่างมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะได้รับเงินทุนสนับสนุนประมาณ 300,000 บาท การเปิดรับแบบทั่วไปสามารติดต่อที่สำนักงานฯ โดยควรกำหนดหัวข้อสำหรับส่งโครงการพิจารณา

คุณสมบัติของกิจการเพื่อสังคมและเงื่อนไขที่จะได้รับการสนับสนุน

💬 คุณไพลิน สันติชัยเวคิน ภาคเอกชนจะมุ่งเน้นการลงทุนในกิจการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกที่เพิ่มขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้นในมิติต่างๆ ทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะเน้นพิจารณาถึงความแข็งแรงของการเป็นกิจการที่มีทั้งความสามารถในการทำกำไร และมีความชัดเจนของผลลัพธ์ในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องอธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรม .

💬 คุณณัฐยา บุญภักดี การสนับสนุนของ สสส. จะมุ่งเป้าไปที่ผลลัพธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นพันธกิจขององค์กร .

💬 คุณอธิชา ชูสุทธิ์ ผู้ประกอบการที่อยากเข้ามารับการสนับสนุนจาก NIA จะต้องเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ คือ การสนับสนุนจะอยู่ในรูปแบบของการลงทุนร่วม ดังนั้น ภายใต้งบประมาณที่กิจการนำเสนอนั้นทางสำนักงานจะสามารถให้การสนับสนุนได้เพียง 75% ของงบประมาณทั้งหมด และมีมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท