Article
3 โอกาสของธุรกิจในการปรับตัวจากวิกฤตด้านความยั่งยืน
การพัฒนาที่ยั่งยืน คือการสามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ทำให้การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลังลดน้อยลง แต่ปัญหาคือทุกวันนี้เรากำลังยืมทรัพยากรของลูกหลานมาใช้ ทำให้โลกได้รับผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างมาก
ธรรมชาติมีวันเสื่อมโทรม ทะเลเป็นกรด น้ำแข็งละลาย ฝนตกพายุถล่ม หรือความร้อนแล้ง ทำให้ต้นไม้พืชพันธุ์ปรับตัวไปไม่ทัน การเกษตรปนเปื้อนเคมีมากยิ่งขึ้น นอกจากจะไม่ยั่งยืนแล้ว ยังทำให้อายุขัยของผู้บริโภคสั้นลงเรื่อยๆ สวนทางกับการอยู่ดีมีสุข และยังทำให้โลกเสื่อมโทรมไปก่อนเวลาอันควรอีกด้วย แต่แม้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านความยั่งยืน ทุกธุรกิจยังจำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่รอด! วันนี้เราจึงต้องมาหาทางออกในการขับเคลื่อนกิจการกันต่อไป แล้วอะไรคือกลยุทธ์หรือทางออกแห่งอนาคตที่จะแก้ปัญหานี้ ควบคู่ไปกับทำให้องค์กรได้เปรียบในการแข่งขันได้!! วันนี้ BC4C ได้รวบรวมมาให้ดูกันแล้วในโพสต์นี้เลย!!!
💬 Better Hospitality Initiative
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการส่งผลกระทบต่อธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน? •การใช้น้ำของนักท่องเที่ยวต่อคน คิดเป็นปริมาณที่มากกว่าคนท้องถิ่นถึง 8 เท่า !! •แนวปะการังจะถูกทำลายไปมากกว่าปกติถึง 3 เท่า ในพื้นที่ที่มีการท่องเที่ยวหนาแน่น !! •ในแต่ละปีมี 18 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารที่ถูกนำเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการกลายเป็นขยะ !!
ในทางกลับกัน วิกฤตการณ์โลกรวนก็ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการในทุกมิติ ดังนั้นสิ่งที่ภาคธุรกิจควรทำอย่างแท้จริงเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนคือ การลดการปล่อยคาร์บอน รวมไปถึง ภาคการขนส่ง ต่างๆ เช่น รถไฟ เครื่องบิน รถบัส ฯลฯ ที่ยังแก้ได้ยาก
ขณะนี้หลายองค์กรจึงได้ข้ามผ่านไปสู่สิ่งที่สร้าง impact มากกว่า คือการสร้างแนวความคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่นเดียวกับสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่แสวงหาการพักผ่อนหย่อนใจด้วยการสัมผัสกับธรรมชาติ ต้องการลดผลกระทบต่อธรรมชาติให้มากที่สุด ดังนั้น ถ้าเป้าหมายคือการสนับสนุนด้านความยั่งยืน จะต้องรู้ว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่ใช่การเน้นหานักท่องเที่ยวในเชิงปริมาณ แต่เป็นเชิงคุณภาพ ซึ่งจะดีต่อทั้งธุรกิจและดีต่อธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
💬 Food System Transformation
วิกฤตการณ์โลกรวนส่งผลกระทบต่อการผลิตวัตถุดิบอาหาร ทำให้ในปัจจุบันเรามี การปฏิรูประบบอาหารของประเทศไทย ในการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติด้านการผลิต การจำหน่าย และการบริโภคอาหารของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นมากขึ้น จัดการกับความท้าทายต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนแปลงนี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายและกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน ยกระดับความปลอดภัยและคุณภาพของอาหาร ลดขยะอาหาร ส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและระบบอาหารในท้องถิ่น ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนและสิ่งแวดล้อม
จึงมีกลยุทธ์เกี่ยวกับการปฏิรูประบบอาหารนี้ออกมา ซึ่งทำงานผ่าน 5 Action Tracks หรือ 5 อิ่ม ดังนี้
•อิ่ม ดี ถ้วนหน้า การมีอาหารปลอดภัย สำหรับทุกคน หยุดยั้งความหิวโหย ลดภาวะทุพโภชนาการ และลดการเกิดโรคที่ไม่ใช่โรคติดต่อ •อิ่ม ดี มีสุข การปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเพิ่มความต้องการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีการผลิตอย่างยั่งยืน และลดการเหลือทิ้ง •อิ่ม ดี รักษ์โลก ส่งเสริมการผลิตอาหารให้เพียงพอ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม •อิ่ม ดี ทั่วถึง เสริมสร้างความเสมอภาคทั้งระบบอาหาร ส่งเสริมการจ้างงานที่มีประสิทธิผลและเหมาะสมตลอดห่วงโซ่การผลิต •อิ่ม ดี ทุกเมื่อ สร้าง ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น คงสภาพระบบอาหารที่ยั่งยืนได้แม้เกิดภัยธรรมชาติ โรคระบาดและสภาพเศรษฐกิจ
💬 Green Jobs & Workforce
นอกจากผลกระทบต่อสังคมโลกในภาพรวมแล้ว วิกฤตการณ์โลกเดือดยังส่งผลกระทบต่อองค์กรที่ขาดคนมีความรู้ความสามารถในการทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพได้ในระยะยาว
ในช่วงเวลาที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรจนทะลุเพดาน Eco Footprint ของโลกไปแล้ว บุคลากรที่มีความสามารถในการหาทางออก หาจุดร่วมเพื่อให้มนุษย์ไปต่อได้โดยที่ไม่ทำร้ายโลกไปมากกว่านี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก รวมถึงการพาสังคมเดินหน้าไปด้วยกันได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น ทักษะในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของธุรกิจนี้จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานปัจจุบัน
คนที่มีทักษะเดิมๆ จึงควรแสวงหาความรู้ พัฒนาความสามารถใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะเป็นในบทบาทของเจ้าของกิจการ หรือพนักงานในองค์กรก็ตาม
ที่มา: globalcompact-th.com