Article

5 กระบวนการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนในระดับองค์กร!


ในยุคที่โลกเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคและนักลงทุนให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้จะพาทุกคนไปสำรวจ 5 กระบวนการสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้ง 5 กระบวนการจะมีอะไรบ้าง ไปดูพร้อมกันได้เลย!

ภาพประกอบเนื้อหา

1️⃣ การวิเคราะห์บริบทของธุรกิจ เพื่อกำหนดประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร (Materiality)

  • ศึกษาและทำความเข้าใจบริบทหรือ ‘ตัวตน’ ขององค์กร (Context analysis) จากวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัฒนธรรมองค์กร ห่วงโซ่คุณค่า กลยุทธ์ ความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจ ตลอดจนทิศทางและแนวโน้มของ อุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นบริบทขององค์กรได้อย่างชัดเจน

  • ระบุและวิเคราะห์ประเด็นที่ผู้มีส่วนได้เสียและธุรกิจมีผลกระทบต่อกัน พร้อมกำหนดวิธีการมีส่วนร่วม (Stakeholder analysis) เพื่อจัดลำดับความสำคัญ ของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม ดำเนินการเพิ่มผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว

  • กำหนดและจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality analysis) ให้ครอบคลุมผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผล ต่อความสามารถในการดำเนินงาน และนำไปสู่การเติบโตได้อย่างยั่งยืน

2️⃣ การกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร (Policy)

  • กำหนดนโยบายและเป้าหมายในการบริหารจัดการความยั่งยืน (Commitment) โดยทำออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรและประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพนักงานในองค์กร ให้มีแนวคิดและการดำเนินงานในทิศทางที่สอดคล้องกันกับนโยบายและเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร

  • กำหนดผู้รับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ เพื่อให้เกิดการทำงานที่เชื่อมโยงกัน (Team set up) เนื่องจากการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในองค์กร ดังนั้นหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงานของทุกคนล้วนเกี่ยวข้องและมีผลกระทบ อย่างไรก็ดี เพื่อให้มีความชัดเจนในการทำงานและการติดตามผลงาน ธุรกิจควรกำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ดำเนินงานและรับผิดชอบหลักในแต่ละประเด็นไว้ให้ชัดเจน

3️⃣ การกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร (Strategy)

  • กำหนดกรอบหรือกลยุทธ์ด้านการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability framework) โดยทั่วไปการกำหนดกรอบมักเชื่อมโยงกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความยั่งยืนของธุรกิจ และเชื่อมโยงกับการพัฒนาธุรกิจในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน สิ่งสำคัญคือธุรกิจควรสามารถเชื่อมโยงกรอบการดำเนินงานเข้ากับความสามารถในการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินด้วย

  • กำหนดแผนงานด้านความยั่งยืน (Sustainability initiative) ธุรกิจควรกำหนดเงื่อนเวลา แนวทางการดำเนินงาน และตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้รับผิดชอบมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนและสามารถประเมินคุณค่าหรือมูลค่าที่สร้างให้แก่ธุรกิจได้

4️⃣ การขับเคลื่อนความยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติ (Implementation)

องค์กรหลายแห่งนิยมใช้ Plan, Do, Check, Act (PDCA) เป็นเครื่องมือ เนื่องจากการนำแผนงานด้านความยั่งยืนไปปฏิบัติ มีกระบวนการดำเนินงานไม่แตกต่างจากการบริหารจัดการแผนงานหรือโครงการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ตลอดจนมีการพัฒนาและปรับปรุงผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

  • Plan วางแผนก่อนการดำเนินงาน

  • Do ลงมือปฏิบัติตามแผน

  • Check ตรวจสอบผลการดำเนินงาน

  • Act ปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพ

5️⃣ การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Disclosure)

  • รวบรวม วางระบบจัดเก็บ และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Data collection & Verification) เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลถือเป็นกระบวนการที่ธุรกิจควรทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง บริษัทจึงควรวางระบบจัดเก็บพร้อมกำหนดผู้เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ดูแลข้อมูลแต่ละส่วนอย่างชัดเจน

  • วิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงาน (Evaluation) โดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่

  • เปิดเผยและสื่อสารผลการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Communication) บริษัทควรนำเสนอข้อมูลที่สมดุล ซึ่งสะท้อนให้เห็นทั้งความสำเร็จและความล้ม เหลวของแผนงาน (ถ้ามี) เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าใจและเห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทอย่างโปร่งใสและปราศจากอคติ อันจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นได้

  • ทบทวนเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง (Review) ควรติดตามทบทวนขอบเขตเนื้อหาของข้อมูลที่เปิดเผย ประเด็นสำคัญด้านความ ยั่งยืนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและบริบทของธุรกิจอยู่เสมอ เพื่อให้สะท้อนศักยภาพและตัวตนของธุรกิจอย่างเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน

ขอบคุณข้อมูลจาก: setsustainability.com)

BANPU #BanpuChampionsForChange #SocialEnterprise #SE #SDGs