Video
ทำความรู้จัก SE : SOCIAL GIVER นักเล่าฝันเพื่อการสร้างสรรค์สังคม
คุณบูมและคุณอลิส คนรุ่นใหม่ที่อยากให้เราสามารถใช้ชีวิตปกติไปควบคู่กับการช่วยเหลือสังคมและเพื่อทำให้ความคิดนี้สำเร็จ พวกเขาต้องนำเสนอแนวคิดนี้เพื่อดึงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ จนการเล่าไอเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
"SOCIAL GIVER นักเล่าฝันเพื่อการสร้างสรรค์สังคม (อลิส บูม)
คุณบูมและคุณอลิส คือคนรุ่นใหม่ที่อยากให้เราสามารถใช้ชีวิตของเราควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมและเพื่อทำให้ความคิดนี้สำเร็จ พวกเขาต้องนำเสนอแนวคิดนี้เพื่อดึงความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ จนการเล่าไอเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
SOCIAL GIVER คือ พื้นที่ที่เชื่อมต่อภาคธุรกิจ โครงการเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในการทำความดีอย่างยั่งยืนได้มากขึ้น
การใช้งาน?
ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น SOCIAL GIVER หรือเข้าไปในเว็บไซต์ socialgiver.com โดยคุณจะพบบริการมากมายที่คุณสามารถช้อป ช่วย แชร์ต่อได้ ทุกครั้งที่คุณได้ซื้อบริการบน SOCIAL GIVER ในราคาพิเศษแล้ว เงินในส่วนนั้นจะไปช่วยโครงการเพื่อสังคมที่เราคัดเลือกแล้วว่ามีคุณภาพและมีความโปร่งใสในการทำงาน รวมทั้งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก ทาง SOCIAL GIVER พยายามหาธุรกิจใจดีจากทั่วประเทศ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร กิจการต่าง ๆ เพื่อมาอาสาให้บริการบน SOCIAL GIVER เพื่อให้คนเข้ามาช้อปอย่างสุขใจและอิ่มใจกับการได้ช่วยหลือโครงการดี ๆ ด้วย
จุดเริ่มต้น
เราเริ่มจากที่เห็นปัญหาในภาคสังคมซึ่งมี 2 ประเด็นหลัก
การที่ภาคสังคมขาดการมีส่วนร่วมจากสาธารณะ (Public Participation) เราจึงอยากหาวิธีที่ทำให้คนทั่วไป คนทำงานออฟฟิส หรือคนที่มีธุรกิจส่วนตัวหรือทำงานที่ยุ่งมาก ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นที่นอกเหนือไปจากการบริจาค การขาดแคลนทรัพยากร เงินทุนในภาคสังคม ประเด็นนี้เราเห็นว่าเงินบริจาคมีจำกัดมาก ๆ คนส่วนใหญ่บริจาคเงินอย่างมากก็ 1% ของรายได้ของเขา ส่วนเงินที่เหลือเขานำไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยว การใช้ชีวิต การมีชีวิตดี ๆ กับเพื่อนกับครอบครัว
คำถามคือเราจะทำอย่างไรที่จะช่วยแก้ปัญหาทั้งสองส่วนนี้
จึงเกิดโมเดล SOCIAL GIVER ขึ้นมา
เพราะเราเห็นว่าในภาคธุรกิจ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สปา สายการบิน กิจกรรมหรืองานต่าง ๆ เป็นบริการที่ไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มขีดจำกัดตลอดเวลา
นั่นหมายถึงว่าเรามี “บริการคงเหลือ” (Spare Service Capacity) อยู่ เช่น โรงแรมที่มีห้องว่าง ร้านอาหารที่มีเก้าอี้ว่าง ตั๋วต่าง ๆ ที่ขายไม่หมด ส่วนนี้มีมูลค่ามหาศาลมาก แต่เมื่อไม่ได้ใช้งานมูลค่าเหล่านั้นก็หายไปทันที ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหรือประชาชนเลย
SOCIAL GIVER คือ แนวทางแก้ปัญหาที่เสนอวิธีการทำ CSR หรือคืนกำไรสู่สังคมผ่านทางการที่ธุรกิจนำ บริการคงเหลือของเขามาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ SOCIAL GIVER แล้วเราก็จะมีดีลราคาพิเศษจากโรงแรม ร้านอาหาร หรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้คนเข้ามาซื้อ โดยทางธุรกิจจะไม่รับรายได้เลย แต่ให้ทาง SOCIAL GIVER หักรายได้ 30% เพื่อนำไปทำงานในการคัดโครงการดี ๆ การหาธุรกิจเพิ่มเติม การทำให้ระบบนิเวศน์ของเราเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง และการติดตามผลกระทบทางสังคม ส่วน 70% ของที่ลูกค้าจ่าย เรานำไปบริจาคให้มูลนิธิต่าง ๆ
สิ่งที่เราพยายามทำคือการแปลงเงินที่คนใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของแต่ละคนให้มีประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น หรืออีกนัยคือให้คนได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่และสามารถช่วยเหลือสังคมไปพร้อม ๆ กันได้
“เป็นปรัชญาของ SOCIAL GIVER ว่าเราอยากผลักดันการตื่นตัวต่อความรับผิดชอบต่อสังคมโดยที่เราสามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ไปพร้อมกับการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่เช่นกัน”
ทำไมต้องแข่งขัน
เราเริ่มทำ SOCIAL GIVER และได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะหรือการแข่งขันหลาย ๆ ที่ โดยมีเหตุผลหลักคือ
เพื่อเงินทุน เพราะหลายการแข่งขัน ทั้งโครงการบ้านปู (Banpu Champion for Change), GSVC หรือว่า Youth Venture ส่วนใหญ่จะมีเงินทุนให้ หากเราชนะหรือผ่านเข้ารอบ ซึ่งเป็นวิธีนึงที่เราหาทุนมาใช้ในการขยายทีมของเรา เพื่อรับรองแนวคิดของเราว่าใช้ได้ไหม? ด้วยความที่แนวคิดของเราค่อนข้างใหม่ ยังไม่มีคนทำ การไปแข่งขันเพื่อให้กรรมการมาให้คำแนะนำและจี้จุดที่เราอาจไม่ได้นึกถึงหรือจุดบอดของเรา ซึ่งทำให้เราได้เจอจุดอ่อนเยอะเลย และทำให้เราได้ฝึกตอบคำถามและได้พัฒนาแนวคิดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หลายที่ยังช่วยโปรโมท ช่วยเชื่อมต่อให้กับภาคส่วนอื่น ๆ อีกทั้งหลายการแข่งขันมีพี่เลี้ยง (Mentor) ให้
“ซึ่งการมีพี่เลี้ยงคือสุดยอดมาก เราได้เรียนรู้จากเมนเทอร์ได้ เหมือนเป็นที่ปรึกษาของเรา และหลายคนยังติดต่อกันถึงทุกวันนี้ ยังเชียร์เราอยู่ อยากให้เราไปได้ต่อ บางครั้งก็กระตุ้น เมื่อไหร่จะขยายงานได้มากกว่านี้อีก”
เคล็ดลับการนำเสนอแนวคิด (Pitching) ต้องคำนึงถึงอะไร? สิ่งใดทำให้เราขายงานผ่าน?
สิ่งสำคัญคือ เราต้องอินกับสิ่งที่เราทำ อินถึงขั้นที่ว่าเราพร้อมที่จะตอบคำถามได้ทุกอย่าง การฝึกซ้อมเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่อยากให้เครียดจนเกินไป สมัยก่อนรู้สึกเครียดมาก ต้องสคริปต์เป๊ะ ๆ จนกลายเป็นว่าเราแข็งทื่อมาก ไม่เป็นธรรมชาติและไม่เป็นตัวของตนเอง
“ตอนแรก ๆ ที่เริ่มแข่งใหม่ ๆ เรามีสคริปต์ทุกงานและผลคือเราแข่งไม่ค่อยชนะเลย จนหลัง ๆ เราไม่มีสคริปต์เลย มีสไลด์และนำเสนอตามสไลด์ พยายามเป็นตัวของตนเองและเล่าจากประสบการณ์ข้างในให้มากที่สุด”
การนำเสนอแนวคิดบ่อย ๆ การคุยกับคนบ่อยขึ้น เวลาคุยกับธุรกิจเราก็พยายามนำเสนอแบบเดียวกัน ส่วนการคุยกับพาร์ทเนอร์เราก็พยายามนำเสนออีกแบบนึง จนสุดท้ายแล้วเมื่อเราขึ้นเวทีก็ไม่มีสคริปต์แล้ว เรานำเสนอแบบเหมือนคุยปกติ
“แต่ว่าก็ผ่านการปรับเปลี่ยนหลายรอบมากทำให้เรามีสไดล์หลายแบบมาก เพราะโจทย์คือต้องเล่าอย่างไรให้คนเข้าใจมากที่สุด เร็วที่สุด แล้วรู้ว่าขั้นต่อไปของเรามีความชัดเจนขนาดไหน ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อม โดยเฉพาะถ้าเราต้องการทำสิ่งที่ใหม่จริง ๆ เป็นปกติที่ต้องล้มลุกคลุกคลาน”
หลายท่านอาจเคยได้ยิน “การนำเสนอในลิฟต์” (Elevator Pitch) ซึ่งคือ การนำเสนอแนวคิดให้ไว เหมือนเราอยู่ในลิฟต์ เราสามารถคุยกับคนในลิฟต์ได้ครู่เดียวประมาณ 1 นาที (หรือาจสั้นกว่านั้น)
เราก็ฝึกคุยกับคนในลิฟต์ที่คอนโด หรือเราฝึกซ้อมเวลาไปออกงานต่าง ๆ ได้เจอคนใหม่ ๆ เมื่อเขาถามว่าเราทำอะไร ให้ฝึกพูดเลย ประมาณ 30 วิ ถึง 1 นาที แล้วเราดูปฏิกิริยาของเขาว่า เมื่อเขาฟัง แล้วเขาอินไหม ถ้าเขาไม่อิน คราวหน้าเราต้องปรับปรุงอย่างไร ต้องลองปรับเรื่อย ๆ และดูผลตอบรับ เมื่อปรับไปเรื่อย ๆ เราจะมองออกว่าถ้าเราคุยกับธุรกิจเราต้องพูดออกมาแนวไหน ถ้าเราคุยกับลูกค้าธรรมดา เราต้องพูดแบบไหน หรือคุยกับพาร์ทเนอร์หรือนักลงทุนที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนเราต้องพูดแนวไหน
การได้รู้ว่าต้องไปนำเสนอที่ไหน สถานที่ประมาณไหน ยิ่งทำให้เราเห็นภาพได้ง่ายขึ้น ถ้าเราคุ้นเคยกับสถานที่ เราจะไม่ตื่นเวที โดยเฉพาะสถานที่ที่เราเคยไป แต่ถ้าเป็นสถานที่ใหม่ เช่น ต่างประเทศ เราอาจต้องทำใจว่าอาจเกิดเหตุการณ์ที่เกินความคาดหมายได้
นอกจากนี้ เราต้องแต่งตัวให้รู้สึกมั่นใจและแสดงถึงแบรนด์ของเราได้
หรือการกำหนดเวลา ซึ่งเราต้องฝึกซ้อมให้แน่ใจว่าอยู่ในเวลาที่กำหนดและเราต้องเคารพกฏกติกาเรื่องเวลาให้ดี ต้องระวังไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่ง
อีกแนวทางที่เราทำบ่อยช่วงแรก ๆ คือหาเพื่อน/พี่ หรือคนที่สละเวลาให้เราได้ มานั่งฟังเรานำเสนอแนวคิดแล้วให้เขาวิจารณ์หรือถามคำถามเสมือนเขาเป็นคณะกรรมการหรือคนที่กำลังชมการนำเสนอนี้อยู่ ซึ่งจะช่วยให้เราออกแบบการนำเสนอได้กระชับที่สุดว
วิธีการเตรียมข้อมูลสำหรับการนำเสนอแนวคิด
โครงสร้างการทำสไลด์หลัก ๆ คือ
เราอยากแก้ปัญหาอะไร สิ่งที่กำลังทำสามารถแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง โมเดลธุรกิจของเราทำเพื่อสังคมแต่เราจะยั่งยืนได้อย่างไร กลุ่มเป้าหมายของเรา หรือตลาดของเรา เราจะเจาะไปทางด้านไหน
บางงานอาจให้ลงรายละเอียดเรื่องการเงิน จึงต้องมีโครงสร้างการเงิน
ถ้ามีเวลา เรื่องทีมเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการนำเสนอให้นักลงทุนหรือการแข่งขันต่าง ๆ เขาจะมองว่าทำไมทีมของคุณถึงมีข้อได้เปรียบ ทำไมคุณมาทำแล้วดีกว่าคนอื่นมาทำ หรือดีกว่าเขาทำเองอย่างไร
“หลายครั้งที่นักลงทุนเลือกลงทุนในคนมากกว่า เพราะนี่คือขั้นตอนแรก หากทีมของคนพวกนี้มีไอเดียที่ดี มันคือก้าวกระโดดสำหรับนักลงทุน”
“ส่วนใหญ่ผมจะจบการนำเสนอสุดท้ายด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างมากขึ้น เช่น หากเราแก้ปัญหานี้สำเร็จ โอกาสทางธุรกิจและโอกาสการสร้างการเปลี่ยนแปลงมีภาพใหญ่ขนาดไหนและเป็นไปทางไหนได้บ้าง การจบแบบนี้เรารู้สึกว่าเป็นข้อความที่ทรงพลัง”
ช่วงที่ผ่านมา เราเข้าไปนำเสนอแนวคิดสำหรับสตาร์ทอัพ (Start Up) เพราะเราเป็นทั้งสตาร์ทอัพและกิจการพื่อสังคม เวลาเรานำเสนอแนวคิดในงานสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่เราเน้นนำเสนอด้านธุรกิจ ด้านเทคโนโลยี แต่จะจบสไลด์สุดท้ายถึงประโยชน์ที่มีต่อธุรกิจเมื่อสังคมของเราดีขึ้น เช่น การนำเสนอแนวคิดให้กับงานของซัมซุงแล้วจบการนำเสนอด้วยว่า คนที่ลำบากที่สุดในสังคมที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ตอนนี้คือกลุ่มลูกค้าของเขาในอนาคต การที่เขามาช่วยสนับสนุนเราและเราได้สนับสนุนคนพวกนี้ทำให้เขาได้มีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาและสร้างชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างตลาดของเขาให้มากขึ้นในอนาคตได้ด้วย
อีกรูปแบบนึงที่เคยใช้ได้คือ ให้โหลดแอพพลิเคชั่นเลย ซึ่งเราต้องดูก่อนว่าการนำเสนอของเรามีวัตถุประสงค์คืออะไร? เรากำลังนำเสนอให้ใครและเราต้องการให้เขาลงมือปฏิบัติสิ่งใด
กุญแจแห่งความสำเร็จ
เราผิดพลาดมาเยอะ ถ้าถามว่ามีท้อบ้างไหม? มีท้อบ้าง แต่เราไม่ได้ท้อพร้อมกัน คือต้องมีคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นยืนสู้ต่อ
ส่วนความล้มเหลวที่เจอ เราต้องยอมรับว่าบางอย่างเราก็ลองผิดลองถูก ไม่มีใครรู้ผลลัพธ์ จึงไม่อยากตำหนิใคร แต่ต้องหาทางแก้ไขความล้มเหลวนั้นได้ทันและไวพอที่จะไม่ทำพลาดแบบนั้นอีก
“เพราะบางครั้งผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เสียความรู้สึกหรือเสียใจ แต่เสียเงิน เสียเวลา รวมทั้งความสัมพันธ์ที่เราต้องสร้างกับหลาย ๆ คน”
การทำงานของเราคือการสร้างพันธกิจบางอย่างกับคนอื่นแล้วเราต้องพยายามรักษาให้ได้ดีที่สุด
“สำหรับเราการทำงานบนความเชื่อใจสำคัญมาก โดยเฉพาะงานของ SOCIAL GIVER ที่มีรายละเอียดและความละเอียดอ่อนเยอะ จึงเป็นหนึ่งเหตุผลทำให้คนอยากมาร่วมงานกับ SOCIAL GIVER เพราะเราใส่ใจและให้เกียรติคนที่เราทำงานด้วย เราพยายามให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสบายใจมากที่สุด”
หัวใจหลักของเราคือการเรียนรู้อย่างรวดเร็วจากทุกความล้มเหลว ทุกคนในทีมจะทราบดีว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะไม่มีการตำหนิว่าเป็นความผิดของใคร แต่เราจะพยายามช่วยกันแก้ปัญหานั้นให้ได้เร็วที่สุด
อีกปัจจัยสู่ความสำเร็จคือ การที่ SOCIAL GIVER ปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนเป็นหุ้นส่วนกัน พวกเขามีสิทธิเสียงในการแสดงความคิดเห็นและมีอำนาจในการตัดสินใจในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งเราคิดว่าการประกอบกิจการเพื่อสังคมที่ใหญ่กว่าธุรกิจขนาดเล็ก การมีผู้ร่วมก่อตั้งหรือหุ้นส่วนเป็นเรื่องสำคัญมาก
อีกประเด็นคือการสร้างทีมที่ดี ซึ่งเราโชคดีมากที่มีทีมงานที่ดีมาก
ทั้งนี้เราต้องแน่ใจว่าทรัพยากรของเราจะไม่หมดไป ทรัพยากรในที่นี้คือเงินทุน เราต้องบริหารจัดการเงินทุนของเราให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการไปได้อย่างต่อเนื่อง
เช่น SOCIAL GIVER ใช้แหล่งเงินทุนอย่างหลากหลายมาก ทั้งจากการแข่งขัน จากหุ้นส่วน จากการหยิบยืมจากเพื่อนหรือครอบครัว หรือ นักลงทุนเพื่อสังคม (Angel Investor) รวมทั้งการนำเสนอแนวคิดให้กับนักลงทุนเพื่อสังคมเหล่านี้ หรือแม้แต่การร่วมลงทุนหรือการระดมทุน เช่น Change Venture ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็หากิจการเพื่อสังคมเพื่อร่วมลงทุนเช่นกัน นอกจากนี้ หุ้นส่วนทั้งหลายอาจไม่ได้ช่วยเฉพาะเรื่องเงินทุนแต่ช่วยเรื่องเครื่อข่ายหรือฐานลูกค้าของเขา
“เราต้องดูความเหมาะสมของธุรกิจเพื่อสังคมของเราด้วยว่า เราจะเพิ่มมูลค่าการลงทุนให้เป็นไปในรูปแบบใด ยิ่งเราตอบโจทย์ได้ชัดเจนมากเท่าใด เราจะมีพันธมิตรที่เข้มแข็งและทำให้เขาสามารถทำงานกับเราได้อย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญมาก”
“อีกเรื่องที่เราต้องชัดเจนคือการตอบแทนให้กับคนที่ทำงานร่วมกับเรา เราไม่อยากให้รู้สึกว่าการทำความดีต้องฟรีอย่างเดียว เพียงแต่เราต้องหาจุดสมดุลย์ให้ได้”
หัวใจหลักข้อหนึ่งของ SOCIAL GIVER คือการทำงานร่วมกันกับ 3 กลุ่มคือ กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาซื้อบริการและได้บริจาคเงิน กลุ่มธุรกิจที่นำบริการคงเหลือมาให้และได้ทำ CSR รวมทั้งได้ประโยชน์ทางด้านการตลาด และกลุ่มโครงการหรือธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้รับเงินทุน ซึ่งต้องมีความโปร่งใสและรายงานผลการทำงานให้ทุกฝ่ายได้รับรู้
“เราต้องการสร้างระบบนิเวศน์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่กิจการเพื่อสังคมควรคำนึงถึง โดยเราต้องออกแบบโมเดลสร้างแรงจูงใจและใช้การทดลองและการพูดคุยกับหุ้นส่วนทุกฝ่ายของเราไปเรื่อย ๆ เพื่อหาจุดที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด”
ฝากร้าน
อยากหาทีมงานเก่ง ๆ มาร่วมครอบครัวกับเรา ส่งข้อความมาสมัครที่แฟนเพจของ SOCIAL GIVER หรืออีเมลมาก็ได้ หรือเข้ามาช้อปได้ที่ th.socialgiver.com
เหตุผลที่เราสร้าง SOCIAL GIVER คือเราอยากเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำดีได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรารู้สึกว่าความพิเศษของ SOCIAL GIVER คือการที่คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ จากการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว การทานอาหารอร่อย ๆ และในขณะเดียวกันได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบากหรือมูลนิธิต่าง ๆ ที่ทำงานสำคัญมากในประเทศไทย โดยที่คนเหล่านั้นไม่ต้องอุทิศอะไรบางอย่างเพื่อการทำดี
และอีกเหตุผลคือเราต้องการสร้างสังคมที่ตระหนักถึงเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นเพราะเรามองว่าการใช้จ่ายเป็นเหมือนการโหวตว่าเราอยากเห็นอนาคตเป็นอย่างไร? หากเราสนับสนุนธุรกิจที่ดี สังคมของเราก็จะดีขึ้น แต่หากว่าเราสนับสนุนธุรกิจที่ไม่ดี สังคมของเราจะแย่ลงไปด้วย
“เราอยากให้คนไทยตระหนักถึงเรื่องการใช้จ่ายว่าทุกครั้งที่เราใช้จ่ายออกไป อำนาจการใช้จ่ายของเราเป็นพลังที่สามารถใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้อย่างมาก”
สรุป
ปัญหาในภาคสังคมซึ่งมี 2 ประเด็นหลัก การที่ภาคสังคมขาดการมีส่วนร่วมจากสาธารณะ (Public Participation) จึงแนวคิดที่อยากทำให้คนทั่วไป คนทำงานออฟฟิส หรือคนที่มีธุรกิจส่วนตัวหรือทำงานที่ยุ่งมาก ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นที่นอกเหนือไปจากการบริจาค การขาดแคลนทรัพยากรและเงินทุนในภาคสังคม คนส่วนใหญ่บริจาคเงินไม่เกิน 1% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนเงินที่เหลือถูกนำไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยว การใช้ชีวิต การมีชีวิตดี ๆ กับเพื่อนกับครอบครัว รูปแบบการแก้ไขปัญหา คือการเปลี่ยน “บริการคงเหลือ” (Spare Service Capacity) เช่น โรงแรมที่มีห้องว่าง ร้านอาหารที่มีเก้าอี้ว่าง ตั๋วต่าง ๆ ที่ขายไม่หมด ให้มีประโยชน์ต่อธุรกิจหรือประชาชน เป็นการแปลงเงินที่ใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของแต่ละคนให้มีประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น หรืออีกนัยคือให้คนได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่และสามารถช่วยเหลือสังคมไปพร้อม ๆ กันได้ เหตุผลที่เน้นการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะหรือการแข่งขันหลาย ๆ ที่ คือ เพื่อเงินทุน เพราะหลายการแข่งขัน ทั้งโครงการบ้านปู (Banpu Champion for Change), GSVC หรือว่า Youth Venture ส่วนใหญ่มีเงินทุนให้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการหาทุนมาใช้ในการขยายทีม เพื่อรับรองแนวคิด การเข้าร่วมแข่งขันทำให้ได้รับคำแนะนำจากกรรมการและการจี้จุดที่อาจไม่ได้นึกถึงหรือจุดบอดของเรา ทำให้ได้เจอจุดอ่อนและทำให้ได้ฝึกตอบคำถามและได้พัฒนาแนวคิดอย่างต่อเนื่อง ช่วยโปรโมท ช่วยเชื่อมต่อให้กับภาคส่วนอื่น ๆ อีกทั้งหลายการแข่งขันมีพี่เลี้ยง (Mentor) ให้ ซึ่งการมีพี่เลี้ยงทำให้ได้เรียนรู้ ได้มีที่ปรึกษา มีแรงเชียร์และแรงกระตุ้น ในการขยายงานให้มากขึ้น เคล็ดลับการนำเสนอแนวคิด (Pitching) สำคัญที่สุดคือต้องอินกับสิ่งที่ทำ ต้องรู้สึกร่วมถึงขั้นที่พร้อมตอบคำถามได้ทุกอย่าง การฝึกซ้อมเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่อยากให้เครียดจนเกินไป มิฉะนั้นอาจดูไม่เป็นธรรมชาติและไม่เป็นตัวของตนเอง “การนำเสนอในลิฟต์” (Elevator Pitch) คือ การนำเสนอแนวคิดให้ไว เหมือนการอยู่ในลิฟต์ เราสามารถคุยกับคนในลิฟต์ได้ครู่เดียวประมาณ 1 นาที โจทย์สำคัญคือ ต้องเล่าอย่างไรให้คนเข้าใจมากที่สุด เร็วที่สุด แล้วเห็นความชัดเจนในเป้าหมายของเรา ซึ่งต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อม การนำเสนอแนวคิดบ่อย ๆ การคุยกับคนบ่อยขึ้น แนวทางที่ทำบ่อยคือหาเพื่อน/พี่ หรือคนที่สละเวลาได้ มาฟังการนำเสนอแนวคิดแล้วให้วิจารณ์หรือถามคำถามเสมือนเป็นคณะกรรมการหรือคนที่กำลังชมการนำเสนอนี้อยู่ วิธีนี้ช่วยให้เราออกแบบการนำเสนอได้กระชับที่สุด หรือการปรับรูปแบบให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย เช่น รูปแบบการคุยกับฝ่ายธุรกิจและฝ่ายหุ้นส่วนย่อมแตกต่างกัน สุดท้ายแล้วจะสามารถนำเสนองานได้แบบเหมือนคุยปกติโดยไม่ต้องมีสคริปต์ ศึกษาสถานที่ที่ต้องทำการนำเสนอแนวคิดซึ่งช่วยทำให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้นและไม่ตื่นเวที เรื่องการแต่งกาย ต้อสร้างความมั่นใจให้กับตนเองและแสดงถึงตัวตนขององค์กรหรือแบรนด์ได้ชัดเจน การบริหารเวลา ต้องอยู่ในเวลาที่กำหนดและเคารพกฏกติกาเรื่องเวลาให้ดี ต้องระวังไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่ง วิธีการเตรียมข้อมูลสำหรับการนำเสนอแนวคิด โดยโครงสร้างการทำสไลด์หลัก ๆ คือ เราอยากแก้ปัญหาอะไร สิ่งที่กำลังทำสามารถแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง โมเดลธุรกิจของเราทำเพื่อสังคมแต่เราจะยั่งยืนได้อย่างไร กลุ่มเป้าหมายของเรา หรือตลาดของเรา เราจะเจาะไปทางด้านไหน บางงานอาจให้ลงรายละเอียดเรื่องการเงิน จึงต้องมีโครงสร้างการเงิน เรื่องทีมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการนำเสนอให้นักลงทุนหรือการแข่งขันต่าง ๆ เขาจะมองว่าทำไมทีมของคุณถึงมีข้อได้เปรียบ ทำไมคุณมาทำแล้วดีกว่าคนอื่นมาทำ หรือดีกว่าเขาทำเองอย่างไร ซึ่งหลายครั้งที่นักลงทุนเลือกลงทุนในคนมากกว่า เพราะคือขั้นตอนแรก หากทีมของคนพวกนี้มีไอเดียที่ดี มันคือก้าวกระโดดสำหรับนักลงทุน โดยส่วนตัวมักจบการนำเสนอสุดท้ายด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างมากขึ้น เช่น หากเราแก้ปัญหานี้สำเร็จ โอกาสทางธุรกิจและโอกาสการสร้างการเปลี่ยนแปลงมีภาพใหญ่ขนาดไหนและเป็นไปทางไหนได้บ้าง การจบแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าเป็นข้อความที่ทรงพลัง กุญแจแห่งความสำเร็จ การทำงานของ Social Giver คือการสร้างพันธกิจบางอย่างกับหลายฝ่ายแล้วต้องพยายามรักษาให้ได้ดีที่สุด ดังนั้นการทำงานบนความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะงานที่มีรายละเอียดและความละเอียดอ่อนเยอะ การใส่ใจและให้เกียรติคนที่ทำงานด้วยกัน ส่งผลให้คนอยากร่วมงานด้วย การเรียนรู้อย่างรวดเร็วจากทุกความล้มเหลว เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะไม่มีการตำหนิว่าเป็นความผิดของใคร แต่จะพยายามช่วยกันแก้ปัญหานั้นให้ได้เร็วที่สุด การปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนเป็นหุ้นส่วนกัน พวกเขามีสิทธิเสียงในการแสดงความคิดเห็นและมีอำนาจในการตัดสินใจในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งการประกอบกิจการเพื่อสังคมที่ใหญ่กว่าธุรกิจขนาดเล็ก การมีผู้ร่วมก่อตั้งหรือหุ้นส่วนเป็นเรื่องสำคัญมาก การบริหารจัดการเงินทุนให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแหล่งเงินทุนมีมาทั้งจากการแข่งขัน จากหุ้นส่วน จากการหยิบยืมจากเพื่อนหรือครอบครัวหรือนักลงทุนเพื่อสังคม (Angel Investor) รวมทั้งการร่วมลงทุนหรือการระดมทุน เช่น Change Venture ซึ่งเป็นกลุ่มที่หากิจการเพื่อสังคมเพื่อร่วมลงทุนเช่นกัน โดยหุ้นส่วนทั้งหลายอาจไม่ได้ช่วยเฉพาะเรื่องเงินทุนแต่ช่วยเรื่องเครื่อข่ายหรือฐานลูกค้าของเขาด้วย การเพิ่มมูลค่าการลงทุนต้องวิเคราะห์ความเหมาะสมของธุรกิจที่กำลังดำเนินการ ยิ่งตอบโจทย์ได้ชัดเจนมากเท่าใด ยิ่งมีพันธมิตรที่เข้มแข็งและสามารถทำงานกับเราได้อย่างต่อเนื่องซึ่งสำคัญมาก การตอบแทนให้กับคนที่ทำงานร่วมกันต้องมีความชัดเจน ไม่ควรสร้างความรู้สึกว่าการทำความดีต้องฟรีอย่างเดียว เพียงแต่ต้องหาจุดสมดุลย์ให้ได้"