Video

ปันประสบการณ์ SE : นกฮูก กรุ๊ป ผู้เชื่อมสินค้าเกษตรยั่งยืนจากชุมชนสู่คนเมือง


กาแฟป่าจากดอยมูเซอที่คนมองข้าม ข้าวอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรบุรีรัมย์ที่ดูเหมือนๆกับที่อื่น นกฮูก กรุ๊ปช่วยผลักให้สินค้าเหล่านั้นขึ้นไปขายบนเครื่องบินและห้างสรรพสินค้าชั้นนำเพื่อค้ำจุนแรงใจของเกษตรกรรายย่อยที่อยากเปลี่ยนการผลิตไปสู่การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"นกฮูก กรุ๊ป เป็นผู้เชื่อมสินค้าเกษตรยั่งยืนจากชุมชนสู่คนเมือง (หมีพู)

จากกาแฟป่าจากดอยมูเซอที่คนมองข้าม

จากข้าวอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรบุรีรัมย์ที่ดูเหมือน ๆ กับที่อื่น

นกฮูก กรุ๊ป ช่วยผลักให้สินค้าเหล่านั้นสามารถขึ้นไปขายบนเครื่องบินและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เพื่อค้ำจุนแรงใจของเกษตรกรรายย่อยที่อยากเปลี่ยนการผลิตไปสู่การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มาเรียนรู้การนำเสนอสินค้าให้เข้าถึงตลาดโดยหมีพู ผู้ก่อตั้ง NokHook Group

เริ่มจากการทำความรู้จักก่อนว่า นกฮูก กรุ๊ป คืออะไร?

คือกิจการเพื่อสังคมที่ทำงานกับเกษตรรายย่อยโดยมีเป้าหมายคือให้คนหันมาทำเกษตรแบบยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเรามีความเชื่อว่าหากเกษตรกรมีตลาดที่ชัดเจนและเป็นธรรมพอ เกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบเคมีอยู่จะ “กล้าเปลี่ยน” มาเป็นเกษตรแบบยั่งยืนมากขึ้น

ในปัจจุบัน นกฮูก กรุ๊ป จับสินค้า 2 ตัวคือ ข้าวและกาแฟ

ในส่วนของข้าว เราทำงานกับกลุ่มเกษตรกรที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งในตอนแรกเราเริ่มจากเล็ก ๆ เพียงกลุ่มเดียวก่อน โดยในปีนี้ (2018) เราได้ขยายเป็น 3 กลุ่มแล้ว นอกจากช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบอินทรีย์แล้ว เรายังสนใจข้าวพื้นเมืองด้วย

“เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวตามท้องตลาด ซึ่งเป็นข้าวที่โรงสีทั่วไปต้องการ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ทั้งที่ประเทศไทยมีข้าวพื้นเมืองมากมายหลายสายพันธุ์”

ยกตัวอย่างข้าวที่เรากำลังส่งเสริมอยู่คือ ข้าวมะลินิลสุรินทร์ซึ่งเป็นข้าวสีดำเช่นเดียวกับไรซ์เบอรี่ หรือข้าวพันธุ์พื้นเมืองของบุรีรัมย์ที่พวกเราเพิ่งได้รู้จักและเริ่มส่งเสริม คือ ข้าวจิ๊บ (เป็นข้าวที่มีสีแดง)

สิ่งที่เราทำกับเกษตรกรคร่าว ๆ คือ การรับซื้อผลผลิตในราคาที่สูงกว่าตลาด เช่น เกษตรกรขายข้าวทั่วไปหรือข้าวเคมีให้กับโรงสีอาจได้ราคาไม่เกิน 10 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าปลูกข้าวแบบอินทรีย์ เรารับซื้อในราคาที่สูงกว่าเกือบ 100%

มาเรื่องกาแฟกันบ้าง

ปัจจุบันเราทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ปลูกกาแฟที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยความพิเศษของกลุ่มนี้คือ มิใช่การปลูกกาแฟเป็นไร่ ๆ แต่เป็นการปลูกกาแฟแบบรักษาป่าไปด้วย

“เขาไม่ถางป่าเพื่อปลูกกาแฟ แต่เขาปลูกแซมไปกับต้นไม้ในป่า ทำให้ชาวบ้านสามารถมีรายได้ไปด้วย และในขณะเดียวกันเป็นการรักษาป่าไปในตัวด้วยเช่นกัน”

ในส่วนของกาแฟ เราเริ่มจากการส่งกาแฟให้กับแอร์เอเชีย โดยระยะหลังเราเริ่มขยายตลาดมากขึ้นโดยการนำเข้าไปวางขายให้ห้างสรรพสินค้าหรือส่งขายตามร้านกาแฟทั่วไปด้วย

ความสำเร็จของกิจการ

วัดจากปริมาณการรับซื้อสินค้าจากเกษตรกร ซึ่งกลุ่มเรามีปริมาณการรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ทุกปี

เช่น ในปีแรก เรารับซื้อข้าวไม่ได้เยอะ ประมาณไม่ถึง 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) ปัจจุบันเรารับซื้อเพิ่มขึ้นจนถึงเกือบ 10 ตัน เนื่องจากเราได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น จากเดิมที่ขายในห้างเดียว ก็เพิ่มจำนวนห้างมากขึ้น

ส่วนของกาแฟ ในปีปัจจุบันเรารับซื้อกาแฟสดจากเกษตรกรประมาณเกือบ 10 ตันเหมือนกัน

ที่ผ่านมาเราพยายามขายผ่านกลุ่มลูกค้ารายใหญ่หรือบริษัทใหญ่ เช่น ขายกาแฟให้แอร์เอเชีย ส่วนข้าวก็ติดต่อกับห้างต่าง ๆ ซึ่งช่องทางที่เราขายอยู่ในปัจจุบันมี ท้อปส์ เดอะมอลล์ วิลล่ามาร์เกต ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เกตชั้นนำของประเทศ

การขยายกิจการ

ในช่วงปีที่ผ่านมาเราพยายามขยายธุรกิจของ นกฮูก กรุ๊ป โดยเพิ่มช่องทางการขายของตนเอง จากเดิมที่ใช้แต่ของคนอื่น โดยเฉพาะกาแฟ ซึ่งตอนนี้เรากำลังทดลองโมเดลร้านกาแฟของ นกฮูก กรุ๊ป อยู่

โดยเราได้พาร์ทเนอร์ที่อยู่ภาคใต้เข้ามาร่วมช่วยเปิดร้านกาแฟแห่งแรกที่จังหวัดพังงา ซึ่งใช้กาแฟจากกลุ่มชาวมูเซอของเรา

ส่วนในปีนี้เรากำลังจะเปิดร้านกาแฟกึ่งศูนย์เรียนรู้ด้านนวัตกรรมสังคม (Social Innovation) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การสร้างช่องทางการขาย

คนส่วนใหญ่ที่เริ่มทำธุรกิจมักให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการแล้วคิดแต่ว่าจะพัฒนาสินค้าไปในทางไหน ซึ่งหลายคนอาจลืมคิดถึงช่องทางการขายสินค้าของตนเองว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร และในการเข้าถึงช่องทางเหล่านั้นมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างทางอย่างไร

“ส่วนตัวผมเองในตอนแรกก็เป็นเหมือนทุกคนคือคำนวนต้นทุนสินค้าต่าง ๆ โดยไม่ได้ศึกษาถึงลักษณะพิเศษของช่องทางการขายของเราอย่างดีพอ ทำให้เราประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ต่ำเกินไป ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ขาดทุนได้”

สิ่งสำคัญจากประสบการณ์ของเราคือการศึกษาให้ดีว่าธุรกิจที่เรากำลังทำเป็นธุรกิจอะไร มีลักษณะพิเศษอย่างไร ในวงธุรกิจนั้นมีการทำงานกันอย่างไร เช่น นกฮูก กรุ๊ป จับสินค้าทั้ง 2 อย่างคือข้าวและกาแฟ ซึ่งธุรกิจสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก

“ผมใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการทำความเข้าใจในธุรกิจกาแฟ เรียนรู้ว่าในธุรกิจนี้มีกระบวนการทำงานและการขายอย่างไร เริ่มตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ศึกษาว่ามีโมเดลธุรกิจกันแบบไหนบ้าง”

หากเราไม่เข้าใจในส่วนนี้ให้ดี เราจะพบปัญหาในการเข้าสู่ตลาดต่อไปเพราะเราไม่สามารถคำนวนต้นทุนที่แท้จริงในการทำธุรกิจของเราได้

“ตอนเริ่มทำเรื่องกาแฟ เราคิดว่าประเทศไทยมีร้านกาแฟเยอะแยะ น่าจะเข้าหาตลาดได้ไม่ยาก แต่พอได้เข้าไปอยู่ในธุรกิจกาแฟแล้วจึงค้นพบว่าส่วนใหญ่ร้านกาแฟแต่ละร้านมีสายการสั่งซื้อกาแฟกันอยู่แล้ว ส่วนคนที่ขายเมล็ดกาแฟ มักไม่ได้ขายแค่เมล็ด แต่ขายเครื่องทำกาแฟให้กับคนที่อยากทำกาแฟหรืออยากเปิดร้านขายกาแฟ โดยให้พวกเขามาเรียนรู้วิธีการทำกาแฟ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถซื้อเครื่องทำกาแฟพร้อมเมล็ดไปได้เลย

ซึ่งร้านกาแฟส่วนใหญ่เมื่อซื้อเมล็ดกาแฟจากเจ้าหนึ่งแล้วมักไม่อยากเปลี่ยนเพราะการเปลี่ยนเมล็ดกาแฟส่งผลให้รสชาติเปลี่ยน และมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียลูกค้าได้

ส่วนคนอีกกลุ่มที่คั่วเมล็ดขายโดยเฉพาะ มักผ่านงานประกวดและได้รับรางวัลเป็นเครื่องการันตีความเชี่ยวชาญของพวกเขา

“สิ่งเหล่านี้คือลักษณะพิเศษของธุรกิจที่เราอาจไม่รู้หากมองจากภายนอก แต่ถ้าเราเข้าไปในธุรกิจโดยที่ไม่ศึกษาข้อมูลเหล่านี้ให้ดีเสียก่อน การดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดนั้นค่อนข้างยาก”

เช่น หลังจาก นกฮูก กรุ๊ป ขายข้าวไปได้ระยะหนึ่ง เราเริ่มสนใจการแปรรูปข้าวจึงเริ่มทำชาข้าวหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ออกจำหน่าย โดยใช้ช่องทางการขายเดิมคือผ่านทางห้างสรรพสินค้า โดยที่เราไม่รู้ว่าห้างสรรพสินค้ามีลักษณะพิเศษในการจัดส่งสินค้า ซึ่งคือมาตรฐานหรือข้อจำกัดของรถส่งสินค้า เช่น สินค้าแช่เย็นจะต้องใช้รถห้องเย็นเท่านั้นโดยที่ทางห้างมีการตรวจสอบอุณหภูมิในรถ ซึ่งการเช่ารถห้องเย็นต้องเป็นแบบเหมาคันเหมาวัน นั่นหมายความว่า ถ้ารถ 1 คันสามารถใส่ได้ 1,000 ขวด แต่เราใส่ไปแค่ 500 ขวด ต้นทุนต่อขวดจึงสูงขึ้น เรื่องเหล่านี้เราไม่รู้มาก่อนทำให้การคำนวนค่าขนส่งต่อขวดของเราผิดพลาด

หรือแม้แต่อายุของสินค้าที่ทางห้างจะกำหนดไว้ว่าต้องคิดเป็นกี่ % ของอายุการเก็บรักษาสินค้า

สมมติ สินค้ามีอายุ 1 ปี แต่ตอนส่งสินค้ามีอายุเกิน 6 เดือนแล้ว ห้างอาจจะไม่รับสินค้านั้น

นอกจากเรื่องต้นทุน เราต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการบริหารสินค้าคงคลังของเราด้วย โดยเฉพาะสินค้าของ นกฮูก กรุ๊ป หรือสินค้าที่มาจากการทำงานร่วมกับชุมชนมักเป็นสินค้าที่ผ่านการแปรรูปค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้นอายุการเก็บรักษามักจะสั้น อาจจะ 1 ปี หรือ 3 เดือน ซึ่งถือเป็นปัญหามากในการจัดการสินค้าคงคลัง

ที่มาของร้านกาแฟ?

สาเหตุที่ตัดสินใจเปิดร้านกาแฟของตนเองเพราะ

การจำหน่ายเมล็ดกาแฟของเราให้กับร้านกาแฟต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก เมื่อเรายังไม่มีพื้นที่เป็นของตนเองเพื่อให้คนในแวดวงได้รับรู้ว่าเมล็ดกาแฟของเราเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เริ่มสร้างชื่อเสียงจากตรงนี้ก่อนก็เป็นการยากที่จะขยายธุรกิจของเราต่อไป ซึ่งแนวทางการเป็นผู้จำหน่ายรายใหญ่ที่มีจำหน่ายเครื่องและสิ่งอื่น ๆ ไปพร้อมกับการขายเมล็ดกาแฟ ก็ไม่ใช่แนวทางการทำงานของ นกฮูก กรุ๊ป เราจึงใช้โมเดลเปิดร้านกาแฟเพื่อให้คนมาลองรสชาติกาแฟ และหากพวกเขาชอบและสนใจทำร้านกาแฟบ้าง ก็สามารถซื้อเมล็ดจากเราได้

อีกสาเหตุคือการมีช่องทางการขายของตนเองทำให้สามารถบริหารจัดการได้หลายสิ่ง บางครั้งการขายให้กับบริษัทใหญ่มักมีข้อจำกัดบางอย่างค่อนข้างเยอะ อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า การที่เรานำสินค้าไปเสนอให้กับทางห้าง มิใช่ว่าเขาจะพิจารณารับสินค้านั้นของเราเสมอไป แม้ว่าเขาสนใจรับสินค้าของเรา ก็ยังมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เช่น เราทำงานกับชาวบ้าน โดยทดลองผลิตสินค้าออกมา 3 – 4 อย่าง ทางห้างอาจรับแค่เพียง 1 อย่างก็ได้ นั่นหมายความว่าต้นทุนการทดลองและผลิตสินค้าที่เหลืออาจสูญเปล่า อีกทั้งสินค้าที่รับไปนั้น เราต้องคิดต่อว่าต้นทุนค่าขนส่งจะคุ้มค่าหรือไม่? แล้วเรายังจะสามารถขายสินค้าที่เขาเลือกเพียงอย่างเดียวต่อไปได้หรือเปล่า?

“สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าความยืดหยุ่นในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ค่อนข้างจำกัด เช่น หากเราต้องการทดลองสินค้าใหม่กับกลุ่มชุมชนที่เราทำงานด้วยแล้วเราต้องการทดลองกับตลาด แน่นอนว่าเราไม่สามารถทดลองผ่านทางห้างได้เพราะทุกครั้งที่มีการนำเสนอสินค้าใหม่ ย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นและค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่ห้างอาจไม่รับสินค้านั้นด้วย”

บทเรียนสำคัญ

เราเริ่มทำงานโดยที่ไม่รู้จักธุรกิจนั้นอย่างจริง ๆ ไม่รู้จักเรื่องข้าวหรือกาแฟอย่างจริง ๆ ทำให้พยายามขายเท่าไหร่ก็ไม่สามารถขายได้ หรือหลายครั้งที่เราคำนวนต้นทุนทุกอย่างผิดหมด ทำให้ราคาขายเป็นราคาที่เข้าเนื้อตัวเอง หรือการคำนวนกระแสเงินสดของตนเองได้ไม่ดี เนื่องจากการค้าขายกับบริษัทใหญ่มักมีระยะเวลาในการจ่าย (Payment Term)

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ตอนแรกเรามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เราน่าจะจัดการได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าต้นทุนการผลิตและคุณภาพของสินค้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญพอกัน เพราะหลายครั้งที่ค่าขนส่งมีต้นทุนพอกันกับต้นทุนวัตถุดิบของสินค้า

อีกบทเรียนคือการควบคุมคุณภาพซึ่งหลายท่านที่ทำงานกับชุมชนน่าจะเคยประสบ

“เมื่อใดที่สินค้าของเราออกสู่ตลาด เราไม่ได้แข่งกับสินค้าในชุมชนด้วยกัน แต่เรากำลังแข่งขันกับสินค้าจากทั่วสารทิศทั้งสินค้านำเข้า สินค้าจากโรงงานใหญ่ ๆ”

เราจะทำอย่างไรเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าของเราได้ เราอาจไม่มีกำลังคน เราอาจไม่มีเครื่องจักรต่าง ๆ แต่เราต้องไปแข่งขันกับคนที่มีความพร้อมทุกอย่าง

“ซึ่งในมุมของผู้บริโภค เขาต้องเลือกสินค้าที่ดีที่สุดสำหรับตนเองอยู่แล้ว”

จึงอยากฝากให้คำนึงถึงกันว่า แม้สินค้าของเรามาจากชุมชน แต่เราจะทำอย่างไรให้สินค้าของเรามีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรเป็น และเราจะควบคุมคุณภาพและมาตรฐานเหล่านั้นให้ทัดเทียมกับสินค้าอื่น ๆ ในตลาดได้อย่างไร

การเดินหน้าต่อไป

แม้ว่าปัญหาเหมือนมีมากมาย แต่เรารู้สึกว่าเราได้เรียนรู้และเติบโตมากขึ้น เราได้พัฒนาสินค้าของเราให้ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นที่ยอมรับของตลาด ส่วนทางสังคมที่เราได้คุยกับเกษตรกร ได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำมีความหมายต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ทำให้เรามีแรงเดินต่อไปแม้ปัญหาจะมีมากมายก็ตาม

ทำไมถึงสนใจเรื่องนี้?

เดิมทีเป็นคนสนใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และการเกษตรเป็นกิจกรรมที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะทั้งในแง่การตกค้างของสารเคมีการเกษตรในสิ่งแวดล้อม การใช้น้ำ หรือการแปลงพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตร ส่วนตัวรู้สึกว่าหากเราส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนและมีคนทำเกษตรยั่งยืนกันมากขึ้น ท้ายสุดแล้วสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นได้

“สำหรับผู้ที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคม อยากให้ศึกษาลักษณะของธุรกิจที่ตนเองสนใจให้ดี เช่น สนใจเรื่องผ้าพื้นเมือง ต้องศึกษาอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ดี หรือสนใจเรื่องอาหาร ต้องศึกษาอุตสาหกรรมอาหารให้ดี และสิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือการเป็นผู้ประกอบการต้องมีความเข้มแข็งทางจิตใจค่อนข้างเยอะ และต้องคิดเผื่ออนาคตด้วยว่าวันนี้เรารวมกลุ่มทำงานกันกับเพื่อน 3 – 4 คน ไม่แน่ว่าปีหน้าอาจเหลือเพียงแค่คุณคนเดียว แล้วคุณยังอยากทำต่อหรือสามารถทำต่อได้หรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอและอาจเกิดขึ้นได้กับคุณเช่นกัน”

สรุป

การสร้างช่องทางการขาย คนส่วนใหญ่ที่เริ่มทำธุรกิจมักให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการแล้วคิดแต่ว่าจะพัฒนาสินค้าไปในทางไหน ซึ่งหลายคนอาจลืมคิดถึงช่องทางการขายสินค้าของตนเองว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร และในการเข้าถึงช่องทางเหล่านั้นมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างทางอย่างไร การคำนวนต้นทุนสินค้าต่าง ๆ ต้องศึกษาถึงลักษณะพิเศษของช่องทางการขายอย่างดีพอ ทำให้สามารถประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ถูกต้องและป้องกันการขาดทุน หรือการคำนวนกระแสเงินสดเนื่องจากการค้าขายกับบริษัทใหญ่มักมีระยะเวลาในการจ่าย (Payment Term) พื้นฐานที่สำคัญคือการศึกษาให้ดีว่าธุรกิจที่กำลังทำเป็นธุรกิจอะไร มีลักษณะพิเศษอย่างไร ในวงธุรกิจนั้นมีการทำงานกันอย่างไร เช่น นกฮูก กรุ๊ป จับสินค้าทั้ง 2 อย่างคือข้าวและกาแฟ ซึ่งธุรกิจสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก จึงต้องเรียนรู้ว่าในธุรกิจทั้งสองอย่างนี้มีกระบวนการทำงานและการขายอย่างไร เริ่มตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ศึกษาว่ามีโมเดลธุรกิจกันแบบไหนบ้าง เช่น เรื่องกาแฟ เราคิดว่าประเทศไทยมีร้านกาแฟเยอะ น่าจะเข้าหาตลาดได้ไม่ยาก แต่พอเริ่มทำธุรกิจกาแฟแล้วจึงค้นพบว่าร้านกาแฟส่วนใหญ่มีสายการสั่งซื้อกาแฟอยู่แล้ว ส่วนคนที่ขายเมล็ดกาแฟ มักไม่ได้ขายแค่เมล็ด แต่ขายเครื่องทำกาแฟให้กับคนที่อยากทำกาแฟหรืออยากเปิดร้านขายกาแฟ โดยให้พวกเขามาเรียนรู้วิธีการทำกาแฟ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถซื้อเครื่องทำกาแฟพร้อมเมล็ดไปได้เลย ซึ่งร้านกาแฟส่วนใหญ่มักไม่อยากเปลี่ยนเจ้าเพราะการเปลี่ยนเมล็ดกาแฟส่งผลให้รสชาติเปลี่ยน และมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียลูกค้าได้ ส่วนคนอีกกลุ่มที่คั่วเมล็ดขายโดยเฉพาะ มักผ่านงานประกวดและได้รับรางวัลเป็นเครื่องการันตีความเชี่ยวชาญของพวกเขา หากไม่เข้าใจในส่วนนี้ให้ดี ย่อมพบปัญหาในการเข้าสู่ตลาดต่อไปเพราะไม่สามารถคำนวนต้นทุนที่แท้จริงในการทำธุรกิจได้ การบริหารสินค้าคงคลังโดยเฉพาะสินค้าของ นกฮูก กรุ๊ป หรือสินค้าที่มาจากการทำงานร่วมกับชุมชน มักมีปัญหาเนื่องจากเป็นสินค้าที่ผ่านการแปรรูปค่อนข้างน้อย ดังนั้นอายุการเก็บรักษามักจะสั้น อาจจะ 1 ปี หรือ 3 เดือน การแก้ไขปัญหา เปิดร้านกาแฟของตนเองเพราะการจำหน่ายเมล็ดกาแฟให้กับร้านกาแฟต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่เป็นของตนเองเพื่อให้คนในแวดวงได้รับรู้ว่าเมล็ดกาแฟของเราเป็นอย่างไร การมีช่องทางการขายของตนเองทำให้สามารถบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ดี เช่น ต้องการทดลองสินค้าใหม่ที่เกิดจากกลุ่มชุมชนที่ทำงานด้วย ซึ่งไม่สามารถทดลองผ่านทางห้างได้เพราะทุกครั้งที่มีการนำเสนอสินค้าใหม่ ย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นและค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่ห้างอาจไม่รับสินค้านั้นด้วย การควบคุมคุณภาพ เมื่อสินค้าของเราออกสู่ตลาด เราไม่ได้แข่งกับสินค้าในชุมชนด้วยกัน แต่กำลังแข่งขันกับสินค้าจากทั่วสารทิศทั้งสินค้านำเข้า สินค้าจากโรงงานใหญ่ ๆ ต้องทำให้สินค้าของเรามีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรเป็น และควบคุมคุณภาพและมาตรฐานเหล่านั้นให้ทัดเทียมกับสินค้าอื่น ๆ ในตลาด สำหรับผู้ที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคม อยากให้ศึกษาลักษณะของธุรกิจที่ตนเองสนใจให้ดี เช่น สนใจเรื่องผ้าพื้นเมือง ต้องศึกษาอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ดี หรือสนใจเรื่องอาหาร ต้องศึกษาอุตสาหกรรมอาหารให้ดี และสิ่งสำคัญคือการเป็นผู้ประกอบการต้องมีความเข้มแข็งทางจิตใจค่อนข้างเยอะ และต้องคิดเผื่ออนาคตด้วยว่าวันนี้เรารวมกลุ่มทำงานกันกับเพื่อน 3 – 4 คน ไม่แน่ว่าปีหน้าอาจเหลือเพียงแค่คุณคนเดียว แล้วคุณยังอยากทำต่อหรือสามารถทำต่อได้หรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอและอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน"