Video

ปันประสบการณ์ SE : เข้าใจปัญหาสังคม กับ Toolmorrow


มารู้จัก "พี่เสก"แห่ง Toolmorrow กัน จาก Creative นักล่ารางวัลสู่การเป็น ผู้ผลิต social experiment viral clips เพื่อแก้ไขปัญหาความเชื่อผิดๆในสังคม ที่มีคนดูรวมกันนับ 100,000,000 ครั้ง จะมาเล่าวิธีคิดเบื้องหลังของกิจการให้รู้กัน

"ในบทเรียนนี้ เรามาทำความรู้จักกับคุณเสก (คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์) แห่ง Toolmorrow ผู้ซึ่งผันตัวจากครีเอทีฟนักล่ารางวัลสู่การเป็นผู้ผลิตไวรัลคลิปที่มีเนื้อหาแสดงถึงการทดสอบแนวคิดและการรับมือในประเด็นต่าง ๆ ของคนในสังคม (Social Experiment Viral Clips) เพื่อแก้ไขปัญหาความเชื่อผิด ๆ ของคนในสังคม ซึ่งมีคนดูรวมกันนับ 100,000,000 ครั้ง โดยคุณเสกจะมาเล่าวิธีคิดและเบื้องหลังของกิจการให้รู้กัน

นิยามปัญหาทางสังคม

คุณเสก: ปัญหาสังคมคือสิ่งที่ทำให้เกิดเป็นปัญหาของสังคมส่วนใหญ่หรือปัญหาที่มีคนทำกันเยอะ ๆ แล้วสิ่งนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมในด้านลบ เช่น ยาเสพย์ติด อุบัติเหตุ หรือการท้องในวัยเรียน ซึ่งประเด็นเรื่องการท้องอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ประเด็นคือเราสูญเสียทรัพยากรบุคคลไป เราจึงมองว่าเป็นปัญหา

จุดเริ่มต้นของการทำกิจการเพื่อสังคม Toolmorrow

คุณเสก: ต้องย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นในการสนใจกิจการเพื่อสังคม ตอนนั้นเราอยู่ที่ฝรังเศสและเห็นว่างานครีเอทีฟหรืองานดีไซน์ดี ๆ มีแต่คนรวยเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ประกอบกับเราเห็นคลิป Fun Theory ของ Volkswagen ที่เกี่ยวกับบันไดเลื่อน ถังขยะที่ทิ้งแล้วมีเสียง ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบที่ดี เราจึงเริ่มสนใจงานด้านสังคมตั้งแต่ตอนนั้น หลังจากนั้นเราเจองานประกวดของบ้านปู เราจึงสมัครโดยคิดแค่ว่าเราอยากทำคลิปดี ๆ มีประโยชน์ต่อสังคมและมีคนแชร์เยอะ ๆ ซึงเมื่อได้เข้าโครงการของบ้านปูทำให้ค้นพบว่าเราต้องเลือกประเด็นที่เราสนใจและมุ่งเน้นไปที่ประเด็นนั้น เราจึงเริ่มมองย้อนกลับมาว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ในสังคมเกิดขึ้นจากอะไร?

ซึ่งเราได้อ่านเจอข้อความหนึ่งกล่าวว่า “พฤติกรรมเกิดจากทัศนคติหรือความเชื่อบางอย่าง” เราจึงคิดว่าสิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงความคิด ตรรกะเพี้ยน ๆ หรือความเชื่อผิด ๆ ในสังคม เพราะเราเชื่อว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในวนเวียนความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้ เช่นเดียวกับเราในสมัยเด็ก จึงเกิดเป็น Toolmorrow ขึ้นมา

วิธีการตั้งโจทย์ในประเด็นทางสังคม

คุณเสก: การตั้งโจทย์มี 2 แบบ

ประเด็นเกิดขึ้นจากเราเอง เราต้องหาข้อมูลปัญหาที่เกี่ยวกับประเด็นนั้น เช่น เราสนใจเรื่องเด็กและเยาวชน เราศึกษาว่ามีประเด็นปัญหาอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราสนใจ เมื่อเรารวบรวมประเด็นทั้งหมดได้แล้ว เราวิเคราะห์ว่าประเด็นใดที่เป็นปัญหาใหญ่ ประเด็นใดที่น่าเป็นห่วง เร่งด่วน หรือเป็นประเด็นที่ปล่อยไว้ไม่ได้ เราเลือกประเด็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเยอะ ประเด็นจากผู้สนับสนุนหรือลูกค้า เขาจะกำหนดประเด็นมาให้ซึ่งทำงานค่อนข้างง่ายกว่า การทำงานคือเราต้องมองย้อนไปว่าภายใต้ปัญหานั้นมีมายาคติซ่อนอยู่ คนที่มีพฤติกรรมแบบนั้นมีมายาคติหรือความเชื่อชุดไหนซ่อนอยู่ เมื่อพบความเชื่อแล้ว สิ่งที่ทำต่อคือการพิสูจน์ความเชื่อหรือมายาคตินั้นให้สังคมได้รับรู้ว่าความเชื่อและความเป็นจริงอาจไม่ตรงกัน เป็นการสั่นคลอนความเชื่อและทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความเชื่อของตนเอง และเริ่มหาคำตอบ ซึ่งถือว่าหมดหน้าที่ของคลิปแล้ว

การสร้างผลกระทบ

คุณเสก: เช่น เราทำคลิปเพื่อให้คนสวมหมวกกันน๊อคมากขึ้น คำถามที่เราตั้งคือทำไมเขาไม่สวมหมวกกันน๊อค? เขาคิดอะไรอยู่? สมมติเขาคิดว่า ไปแค่ใกล้ ๆ นี่เอง แสดงให้เห็นความเชื่อที่ว่าการเดินทางระยะใกล้ไม่มีอุบัติเหตุ เราจึงต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือ? เพื่อให้ความคิดของเขาถูกสั่นคลอน

“เราเชื่อว่าเมื่อความคิดเปลี่ยน พฤติกรรมจะเปลี่ยนตาม และคลิปเป็นส่วนหนึ่งในการโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม”

ตัวชี้วัด

คุณเสก: เรารู้ได้อย่างไรว่าคลิปประสบความสำเร็จ? เราวัดจากการแทก (Tag) ในช่องคอมเมนต์หรือช่องแสดงความคิดเห็น ซึ่งการวัดผลการตระหนักรู้ (Awareness) ในระดับกว้าง (Mass) ทำได้ค่อนข้างยากแต่เราสามารถพยากรณ์ได้ว่าเขาน่าจะเปลี่ยนพฤติกรรม (ในที่นี้คือสวมหมวกกันน๊อค) โดยดูจากความสนใจทั้งการส่งต่อ การติดต่อเรา หรือการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ

แนวทางการพัฒนาสู่อนาคต

คุณเสก: Toolmorrow มีรูปแบบการทำงานคือการทำลายความเชื่อผิด ๆ ซึ่งนอกจากคลิปแล้วเราได้ออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ด้วยเช่นกัน โดยเราเพิ่มบทบาทจากการเป็นนักทำลายความเชื่อมาเป็นนักสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราเริ่มคุยกับผู้ที่มีปัญหา

วิธีการเข้าใจปัญหาที่แท้จริง

คุณเสก: เราเริ่มจากคุยกับคนที่มีปัญหา คุยกับมูลนิธิที่เคยแก้ปัญหา คุยกับหลายคนหลายฝ่ายเพื่อรับรู้ปัญหาที่แท้จริง พยายามคลุกคลีกับปัญหา แล้วเราจะพบชุดความคิดของเขาและหาแนวทางในการทำลายความเชื่อนั้นได้

“เขามีความกังวลเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรให้เขาไม่กังวล เขาคาดหวังแบบนี้ เราจะทำอย่างไรให้เขาได้สิ่งที่คาดหวัง”

ซึ่งเมื่อเราเปิดรับการมีส่วนร่วมของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและให้ข้อมูล จึงเกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม (Co-Creation) ซึ่งตรงกับจริตของคนในสังคมปัจจุบัน

การเติบโต

คุณเสก: เราต้องเติบโตไปด้วยกัน เราต้องสร้างฐานกับมวลชนที่เราทำงานด้วย จากเดิมที่ทำงานกันแค่สองคน เมื่อคลิปถูกปล่อยออกสู่สังคมและผู้คนเริ่มชอบแนวทางการทำงานของเรา เริ่มมีผู้สนับสนุนเข้ามา ทีมงานเริ่มขยายมากขึ้น ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเราได้ลูกค้าที่เป็นรายการทีวี จึงสามารถเลี้ยงกิจการให้ขยายกว้างขึ้นได้ แต่ขณะเดียวกันเราคิดเสมอว่าหากไม่มีรายการนี้แล้ว เราจะเลี้ยงทีมงานของเราต่อไปได้อย่างไร? เป็นความเสี่ยงเหมือนกันนะ

การสร้างทีม

คุณเสก: เราลองหลายวิธีมาก ตอนแรกเราลองแบ่งเป็นฝ่ายแบ่งเป็นทีมทำงานแยกจากกัน แล้วเราค้นพบวิธีการทำงานที่ใช้ในปัจจุบันโดยเรามองย้อนกลับไปสมัยที่เราเริ่มทำงาน เราทำทุกอย่างด้วยตนเอง จากนั้นเราถอดบทเรียนจากงานที่สำเร็จแล้ว โดยดูว่าแต่ละขั้นตอนมีการทำงานอย่างไร แล้วหาคนมาสวมในแต่ละงาน โดยให้แต่ละฝ่ายทำงานออกมาให้คล้ายกับวันที่ประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุด

ตอนแรกเริ่มเราค่อนข้างสบาย ๆ ขอแค่มีใจก็พอแล้ว แต่พอทำงานไปสักพักเราค้นพบว่าแต่ละงานแต่ละหน้าที่ต้องการคนที่มีคาแรกเตอร์แตกต่างกัน

“เราต้องเข้าใจธรรมชาติของสายงาน และรู้ว่าการทำงานในแต่ละสายงานให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีคาแรกเตอร์แบบใด?”

สิ่งเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในตอนสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองคนให้เหมาะสมกับงาน โดยหลัก ๆ เรามักถามคำถามเพื่อดูความมุ่งมั่นในความคิด คุณภาพของงานและการแก้ไขปัญหา

“การสอนคนให้เก่งเป็นสิ่งที่เติมกันได้ แต่ความมุ่งมั่นให้ได้ผลงานที่ดีมีคุณภาพเป็นเรื่องที่พูดกันลำบาก”

การบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Management)

ค่าตอบแทน

คุณเสก: ส่วนใหญ่เราให้ค่าตอบแทนตามที่เขาเรียกมา ถ้าไม่ไหวเราก็บอกไปตามตรง บางคนไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน เราให้เริ่มที่ฐานเงินเดือนปกติ แต่เมื่อเขาทำงานได้ดี เราตอบแทนเขาเลยทันที เช่น เพิ่มเงินเดือนหรือให้โบนัส

โดยหลักคือเราดูว่าเขาต้องการอะไรแล้วเราค่อยให้สิ่งนั้น เพราะบางคนไม่ได้สนใจเรื่องเงิน บางคนสนใจเรื่องรางวัล

หลักสำคัญในการบริหารทีม

คุณเสก: เราพยายามให้ทีมงานซึมซับความมุ่งมั่นจากเรา เมื่อเจอปัญหาแล้วไม่ทิ้ง ต้องกัดไม่ปล่อย เมื่อเราทำให้เขาเห็นบ่อย ๆ เขาจะซึมซับและเรียนรู้เอง แล้วเวลาจะเป็นตัวช่วยในการคัดกรองคนที่เหมาะกับงาน โดยคนที่ไม่ชอบหรือไม่เหมาะกับธรรมชาติของงานแบบนี้จะออกไปเอง

การจัดการกับความผิดพลาด

คุณเสก: เมื่อเกิดความผิดพลาด สิ่งสำคัญคือเราต้องให้กำลังใจเขา แต่ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ในวิธีการพูด ซึ่งเรามักถามย้อนให้เขาเห็นปัญหา ให้เขาได้คิดหาทางแก้ปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก พยายามหาทางออกร่วมกัน

“ต้องหาสมดุลย์ในการประนีประนอม เราให้กำลังใจเขาได้ แต่ต้องไม่ให้เขาเคยตัว”

ลักษณะของทีมที่ดี

คุณเสก: เราพูดเสมอว่าทีมต้องไม่ทิ้งกัน หากเห็นช่องโหว่ตรงไหนให้เติมเลย อย่าคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของเรา เพราะนี่คือการทำงานเป็นทีม เรามีความมุ่งมั่น เราไม่ทิ้งกัน เราเติบโตไปพร้อมกัน

“มาถึงจุดนี้แล้ว แค่มองตาก็รู้ใจ เขารู้ว่าเราต้องการอะไร ทำให้เราเหนื่อยน้อยลง แต่ก่อนเราทำงานแบบเก็บงานเองทุกอย่าง ทำให้เกิดเป็นคอขวด ตอนนี้เราให้เขาได้คิดได้เก็บงานเอง จบงานเอง พยายามให้เขามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงการ”

กุญแจสู่ความสำเร็จ

คุณเสก:

ความชัดเจน เนื่องจากเราขายความคิดสร้างสรรค์ หากเป้าหมายไม่ชัดเจน การทำงานย่อมลำบากมาก การดำเนินงาน (Operation) ในแต่ละหน้าที่หรือแต่ละฝ่ายต้องระบุหน้าที่และขอบเขตที่ชัดเจนเป็นขั้นตอน เพื่อป้องกันการสับสนและทำให้ระบบดำเนินต่อไปได้ สังเกตว่าองค์กรที่สามารถขยายผลให้ใหญ่ขึ้นได้ล้วนมีโครงสร้างการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นระบบ มีการวางขอบเขตการทำงานและระบุหน้าที่ของงานแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน มีกฏระเบียบขององค์กรอย่างชัดเจน ความเข้าใจลูกค้า หลายครั้งที่เราเอาตัวเองเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าเราเข้าใจลูกค้า เรารู้ว่าเขาให้คุณค่ากับสิ่งใดแล้วเรานำเสนอออกมา ลูกค้าจะเป็นฝ่ายเข้ามาหาเราเอง

ความผิดพลาดหรือความล้มเหลว

คุณเสก:

เรื่องคน เราคาดหวังกับสิ่งที่เราลงทุนไปค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องคน ซึ่งเราเคยท้อแท้ถึงขั้นไม่อยากทำต่อแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ต้องปรับ ถ้าเรายังยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราจะเจอกับความผิดหวังเรื่อย ๆ “แต่ถ้าเราพยายามเข้าใจทีมงานมากขึ้น เราเอาความสุขของพวกเขาเป็นเกณฑ์ เราจะทำงานมีความสุขมากขึ้น”

แต่ก่อนเราไม่มีศิลปะในการพูด ทีมงานมักบอกว่าเราพูดแรง ทั้งที่ผลลัพธ์ปลายทางเดียวกันแต่เราไม่รู้วิธีพูดที่ดี เราจึงเรียนรู้วิธีการพูดและการทำความเข้าใจในทีมงานมากขึ้น

ความชัดเจน เราเคยเป็นคนสบาย ๆ ซึ่งทำให้เราเสียเวลาในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างมาก ถ้าย้อนกลับไปได้ เราอยากให้เวลาทบทวนตัวเองมากกว่านี้ เพื่อกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และเจาะกลุ่มลูกค้าของเราให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น การดำเนินงาน (Operation) เราจัดการอะไรไม่ค่อยเก่ง และเป็นคนประนีประนอม ถ้าเราได้ผู้ร่วมงาน (Partner) มาช่วยวางระบบการทำงานและโครงสร้างตั้งแต่ต้น เราคงไปได้ไกลกว่านี้

วิธีการรักษา

คุณเสก: เราค้นพบว่าถ้าเราไม่รู้เรื่องหรือไม่มีประสบการณ์ในเรื่องใด เราจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในเรื่องนั้นจะดีกว่า โดยเน้นคนที่อยู่ในแวดวงเรา มีประสบการณ์ทำงานด้านนี้ เข้าใจระบบการทำงานของทีมและองค์กรแบบเรา ให้เขามาดูระบบการทำงานของเรา การคุยงานกับทีมงาน การทำงานของทีมงาน แผนผังโครงสร้างองค์กร หน้าที่ขอบเขตของแต่ละฝ่าย ให้เขาช่วยปรับให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นทางลัด (Shortcut) อย่างหนึ่งที่ควรลงทุน เพราะระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพทำให้กิจการมีรายได้และกำไรในะยะยาว

“เราพยายามเรียนรู้จากคนที่เก่งกว่า มีประสบการณ์มากกว่า เพราะเราต้องการพัฒนาทีมของเราให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นทุกวัน”

สื่อสารกับคนในองค์กรอย่างไร?

คุณเสก: เราบอกทีมงานว่ามีคนมาช่วยปรับการทำงานของพวกเราให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นนะ ซึ่งปลายทางภาพรวมของกิจการและทีมเราดีขึ้น ทุกคนในทีมย่อมเห็นด้วย

ภายหลังการรักษา

คุณเสก: ความสุข ผลงาน การติดต่องานกัน คุณภาพของงานเพิ่มขึ้น ความตึงเครียดในทีมน้อยลง

การเป็นกิจการเพื่อสังคมมีแต้มต่อทางธุรกิจไหม?

คุณเสก: ลูกค้าไม่ได้มองเราเป็นกิจการเพื่อสังคมนะ เขามองว่าเราเป็นองค์กรที่ทำคลิปสื่อสารประเด็นเหล่านี้ได้ และวิธีการสื่อสารของเราสามารถนำพาไปสู่เป้าหมายของลูกค้าได้ ซึ่งเราต้องแข่งกับเอเจนซี่อื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นกิจการเพื่อสังคมหรือองค์กรใหญ่ ๆ เช่น ยูนิเซฟ เป็นต้น

“เหตุผลหลักที่ลูกค้าเลือกเราเพราะเรามีทางเลือกที่ดีกว่าคนอื่น มิใช่เพราะว่าเราเป็นกิจการเพื่อสังคม”

ดังนั้นไม่ควรเอาจุดนี้เป็นจุดขาย เราควรนำเสนอคุณค่าของสินค้าและบริการของเรา

“กิจการเพื่อสังคมเกิดจากคนที่สนใจแก้ไขปัญหาสังคม โดยคิดรูปแบบทางธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และทำให้การแก้ปัญหาสังคมนั้นดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน”

อนาคต

คุณเสก: เราอยากเป็นนักสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง อยากสร้างสื่อที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นสตูดิโอที่คิดค้นและทดลองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน “เราอยากผลิตเครื่องมือใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะ เป็นเหมือนห้องแลปในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน (Behavior Change Lab)”

ฝากถึงคนที่สนใจ “กิจการเพื่อสังคม”

คุณเสก: เริ่มจากทำความเข้าใจกับปัญหาให้ลึกซึ้ง แล้วหากลุ่มลูกค้าของตัวเองให้เจอ วิเคราะห์ว่าลูกค้าต้องการอะไร มีความคาดหวังอะไร และมีความกังวลในเรื่องอะไร แล้วออกแบบสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองปัญหาเหล่านั้น อย่าเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง

เป็น “กิจการเพื่อสังคม” แล้วได้อะไร?

คุณเสก: ให้คุณค่ากับชีวิตเรา ทำให้รู้สึกว่าเราเกิดมาแล้วได้ทำสิ่งดี ๆ เพื่อโลกใบนี้ เราไม่ทำสิ่งที่หลอกหลวงประชาชน เราไม่หลอกลวงสังคม เราไม่ทำสินค้าและบริการที่ทำลายโลก “เรารู้สึกว่าคนเราเกิดมาควรทำสิ่งดี ๆ เพื่อให้ลูกหลานของเรามีทางเดินที่ดีกว่านี้”

สรุป

ปัญหาทางสังคมคือสิ่งที่ทำให้เกิดเป็นปัญหาของสังคมส่วนใหญ่หรือปัญหาที่มีคนทำกันเยอะ ๆ แล้วสิ่งนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมในด้านลบ เช่น ยาเสพย์ติด อุบัติเหตุ หรือการสูญเสียทรัพยากรบุคคลจากการท้องในวัยเรียน วิธีการตั้งโจทย์ในประเด็นทางสังคม มี 2 แบบ ประเด็นจากความสนใจส่วนตน ต้องหาข้อมูลของประเด็นปัญหานั้น เช่น เราสนใจเรื่องเด็กและเยาวชน เราศึกษาว่ามีประเด็นปัญหาอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราสนใจ เมื่อเรารวบรวมประเด็นทั้งหมดได้แล้ว เราวิเคราะห์ว่าประเด็นใดที่เป็นปัญหาใหญ่ ประเด็นใดที่น่าเป็นห่วง เร่งด่วน หรือเป็นประเด็นที่ปล่อยไว้ไม่ได้ เราเลือกประเด็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเยอะ ประเด็นที่ถูกกำหนดจากผู้สนับสนุนหรือลูกค้า ซึ่งทำงานค่อนข้างง่ายกว่า การสร้างผลกระทบ เริ่มจากการมองย้อนไปว่าภายใต้ปัญหานั้นมีมายาคติใดซ่อนอยู่ คนที่มีพฤติกรรมแบบนั้นมีมายาคติหรือความเชื่อชุดไหนซ่อนอยู่ เมื่อพบความเชื่อแล้ว สิ่งที่ทำต่อคือการพิสูจน์ความเชื่อหรือมายาคตินั้นให้สังคมได้รับรู้ว่าความเชื่อและความเป็นจริงอาจไม่ตรงกัน เพื่อเป็นการสั่นคลอนความเชื่อและทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความเชื่อของตนเอง และเริ่มหาคำตอบ ซึ่งถือว่าหมดหน้าที่ของคลิปแล้ว ตัวชี้วัด ในกรณีของ Toolmorrow วัดจากการแทก (Tag) ในช่องคอมเมนต์หรือช่องแสดงความคิดเห็น ซึ่งการวัดผลการตระหนักรู้ (Awareness) ในระดับกว้าง (Mass) ทำได้ค่อนข้างยากแต่เราสามารถพยากรณ์ได้ว่าเขาน่าจะเปลี่ยนพฤติกรรม (ในที่นี้คือสวมหมวกกันน๊อค) โดยดูจากความสนใจทั้งการส่งต่อ การติดต่อบริษัท หรือการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ วิธีการเข้าใจปัญหาที่แท้จริงเริ่มจากคุยกับคนที่มีปัญหา คุยกับมูลนิธิที่เคยแก้ปัญหา คุยกับหลายคนหลายฝ่ายเพื่อรับรู้ปัญหาที่แท้จริง พยายามคลุกคลีกับปัญหา แล้วจะพบชุดความคิดของเขาและหาแนวทางในการทำลายความเชื่อนั้นได้ โดยเปิดรับการมีส่วนร่วมของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและให้ข้อมูล จึงเกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม (Co-Creation) ซึ่งตรงกับจริตของคนในสังคมปัจจุบัน การบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Management) ค่าตอบแทน พิจารณาจากส่ิ่งที่ทีมงานต้องการ บางคนไม่ได้สนใจเรื่องเงิน บางคนสนใจเรื่องรางวัล การสร้างทีม ต้องเข้าใจธรรมชาติของสายงาน และรู้ว่าการทำงานในแต่ละสายงานให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีคาแรกเตอร์แบบใด? รายละเอียดเหล่านี้ควรนำไปใช้ในการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองคนให้เหมาะสมกับงาน หลักสำคัญในการบริหารทีม คือต้องแสดงให้ทีมงานได้ซึมซับและเรียนรู้การทำงานและความมุ่งมั่นของเรา เพราะลักษณะของทีมที่ดีคือต้องมีความมุ่งมั่น ไม่ทิ้งกัน และเติบโตไปพร้อมกัน จากนั้นให้เวลาเป็นตัวช่วยในการคัดกรองคนที่เหมาะกับงาน โดยจัดสรรงานให้เหมาะสม และเปิดโอกาสให้ทีมงานมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของงาน การจัดการกับความผิดพลาด สิ่งสำคัญคือกำลังใจ แต่ต้องมีวิธีการพูดเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก และพยายามหาทางออกร่วมกัน กุญแจสู่ความสำเร็จ เป้าหมายชัดเจน เนื่องจาก Toolmorrow ขายความคิดสร้างสรรค์ หากเป้าหมายไม่ชัดเจน การทำงานย่อมลำบากมาก การดำเนินงาน (Operation) ในแต่ละหน้าที่หรือแต่ละฝ่ายต้องระบุหน้าที่และขอบเขตที่ชัดเจนเป็นขั้นตอน มีกฏระเบียบขององค์กรอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการสับสนและทำให้ระบบดำเนินต่อไปได้ ความเข้าใจลูกค้า อย่าเอาตัวเองเป็นเกณฑ์ พยายามเข้าใจลูกค้า วิเคราะห์ว่าเขาให้คุณค่ากับสิ่งใดแล้วนำเสนอสิ่งนั้นออกมาเพื่อดึงความสนใจของลูกค้า ความผิดพลาดหรือความล้มเหลว เรื่องคน พยายามเข้าใจทีมงานมากขึ้น เอาความสุขของพวกเขาเป็นเกณฑ์ จะทำให้ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุขมากขึ้น เช่น เรียนรู้วิธีการพูดและการทำความเข้าใจในทีมงานมากขึ้น ความไม่ชัดเจนในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และการเจาะกลุ่มลูกค้า ซึ่งทำให้เสียเวลาในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างมาก ขาดการวางแผนการดำเนินงาน (Operation) และโครงสร้างการทำงาน ทำให้เสียเวลาในการลองผิดลองถูกในช่วงต้น วิธีการแก้ไข คือจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์หรือไม่ถนัด โดยเน้นคนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน มีประสบการณ์ทำงานด้านนี้ เข้าใจระบบการทำงานของทีมและองค์กรแบบเรา ให้เขามาดูระบบการทำงาน การคุยงานกับทีมงาน การทำงานของทีมงาน แผนผังโครงสร้างองค์กร หน้าที่ขอบเขตของแต่ละฝ่าย ให้เขาช่วยปรับให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นทางลัด (Shortcut) อย่างหนึ่งที่ควรลงทุน เพราะระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพทำให้กิจการมีรายได้และกำไรในะยะยาว การเป็นกิจการเพื่อสังคมไม่ได้มีแต้มต่อทางธุรกิจ เนื่องจากลูกค้าไม่ได้มองเรื่องการเป็นกิจการเพื่อสังคม แต่มองว่าเป็นองค์กรที่ทำคลิปสื่อสารประเด็นเหล่านี้ และมีวิธีการสื่อสารที่สามารถนำพาไปสู่เป้าหมายของลูกค้าได้ ซึ่งต้องแข่งกับเอเจนซี่อื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นกิจการเพื่อสังคมหรือองค์กรใหญ่ ๆ เช่น ยูนิเซฟ เป็นต้น"