Article

Pitching อย่างไรให้สำเร็จ! เปิด 3 Key Success จาก 3 ศิษย์เก่า BC4C


Pitching อย่างไรให้สำเร็จ! เปิด 3 Key Success จาก 3 ศิษย์เก่า BC4C ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การนำเสนอแผนธุรกิจ” หรือ “Business Pitching” ถือเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญสำหรับสนามธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะการพิชชิ่งนั้นไม่ใช่แค่เพียงการขายไอเดียเพื่อแข่งขันหรือโน้มน้าวให้เกิดการลงทุนในกิจการเท่านั้น แต่ถือเป็นทักษะพื้นฐานของผู้ประกอบการ ที่จะช่วยสื่อสารเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจและคล้อยตามความคิด หรือทำให้เกิดการกระทำบางอย่าง เช่น ทำให้รับรู้และเข้าใจในสินค้าและบริการ หรือกระทั่งเกิดการซื้อขายหรือบอกต่อ โครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และ สถาบัน ChangFusion มุ่งผลักดันศักยภาพกิจการเพื่อสังคม (SE) ไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน ที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ผ่านการจัดเวิร์กช็อป “พัฒนาทักษะการนำเสนอแผนธุรกิจ” (Business Pitching Workshop) ผู้ประกอบการ SE ในระยะเริ่มต้น (Incubation Program) ที่ผ่านเข้ารอบโครงการฯ รุ่นที่ 12 โดยมี 3 ศิษย์เก่าหรือ BC4C Alumni ที่มากด้วยประสบการณ์ในวงการกิจการเพื่อสังคม และผ่านการ Pitching จริงกับเหล่าคณะกรรมการ BC4C มาร่วมแบ่งปันเทคนิคและประสบการณ์ในการนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ

ภาพประกอบเนื้อหา

เทคนิคที่ 1 - สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนด้วย “เป้าหมายที่ชัดเจน-แบบจำลองที่วัดผลได้” โดย คุณปาร์ค-บุตรพจน์ พลพิพัฒนาพงศ์ BC4C รุ่น 9 จาก ม้งไซเบอร์

“สิ่งสำคัญแรกของการนำเสนอคือ การสร้าง ‘แบบจำลองโครงการ’ ซึ่งเป็นเสมือนแนวทางของกระบวนความคิดก่อนที่จะพัฒนาเป็นสื่อสำหรับการนำเสนอ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเป็นการตกผลึกไอเดียร่วมกันในทีมให้ออกมาในรูปแบบของแผนภาพความคิด (Mind Map) และกระดานเป้าหมาย (Vision Board) จากนั้นค่อยๆ ประมวลไอเดียที่ได้ลงในสื่อสำหรับการนำเสนอ (Pitch deck) และเข้าสู่การวางแผนงบประมาณ (budgeting) และแผนการดำเนินงาน (Action Plan) การสร้างแบบจำลองโครงการจะช่วยให้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจในทิศทางเดียวกันและสามารถมองเห็น Roadmap ของโครงการในภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น

เทคนิคที่ 2 - ฉายผลลัพธ์การดำเนินกิจการ ด้วยกระบวนการทำงานของ Data Visualization โดย คุณไผ-สมศักดิ์ บุญคำ BC4C Alumni รุ่น 2 จาก Local Alike

“การออกแบบสื่อด้วยการนำข้อมูลดิบมาวิเคราะห์และแสดงผลผ่าน ‘แผนภาพ’ ‘แผนผัง’ หรือ ‘แผนภูมิ’ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการ Pitching เพราะในบางบริบทของการนำเสนอ ภาพเพียงหนึ่งภาพสามารถขมวดความคิดหรือสิ่งที่ต้องการสื่อสารได้ทั้งหมด ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ฟังได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องเลือกรูปแบบ Visualization ให้เหมาะสมกับข้อมูลด้วย เช่น การใช้แผนภาพมาช่วยอธิบายกระบวนการทำงานของแอปพลิเคชัน หรือการนำเสนอข้อมูลสำคัญเชิงตัวเลขหรือสถิติในรูปแบบกราฟหรือแผนภูมิ จะช่วยให้ผู้ฟัง/ผู้รับสารเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับ Local Alike ที่เลือกใช้ ‘แผนผัง’ มาแสดงผลข้อมูลทางเศรษฐกิจให้นักลงทุนได้เห็นว่า 100% ของรายได้ จะได้รับการจัดสรรไปยังกิจการและชุมชนในสัดส่วนที่เท่าไหร่”

เทคนิคที่ 3 - ดึงความสนใจนักลงทุนด้วยการ “ยึดโยงกิจการกับเรื่องใกล้ตัว” โดย คุณบอส-คณิน ทรงอธิกมาศ BC4C รุ่น 11 จาก Swoop Buddy

“โอกาสในการนำเสนอหนึ่งครั้งล้วนมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งกลุ่มผู้ฟังที่มีความหลากหลายด้านประสบการณ์ ช่วงอายุ และความสนใจ ช่วงเวลาในการนำเสนอและตอบคำถามที่จำกัด ดังนั้น การสร้างความสนใจเพื่อให้เกิดการตอบสนอง (Reaction) ในเชิงบวกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำเสนอต้องอาศัยทักษะการดึงความสนใจตั้งแต่เริ่มต้น ย่อยเนื้อหาให้เข้าใจง่าย และสิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงเรื่องราวที่นำเสนอกับประสบการณ์ร่วมของผู้ฟังให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่นำเสนอ รับฟังอย่างเข้าใจ และสามารถติดตามการนำเสนอได้จนจบ”