Video

Upskill : หลักการประเมินผลการดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคม


ทำธุรกิจยังต้องทำบัญชีการเงินเพื่อประเมินผลงาน แล้วทำไมแก้ไขปัญหาสังคมไม่ต้องทำการระเมินผลงาน คิมผู้จัดการด้านการลงทุนแห่ง ChangeVentures จะมาเล่าแนวทางการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมแบบบ้านๆดู

Social impact assessment

ทำไมเราถึงต้องทำ? แค่เราทำดีไม่เพียงพอหรือ? เช่นเราต้องการซื้อสินค้าจากผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น เท่านี้ไม่เพียงพอหรือ?

ถูกในแง่ว่าเราต้องการทำดี แต่เราตอบได้ไหมว่า เราทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ มากน้อยแค่ไหน และเราอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้หรือไม่ว่าควรลงทุนในโครงการนี้มากกว่าอีกโครงการหนึ่งเพราะเราสร้างผลกระทบทางสังคมได้มากกว่า

ความสำคัญ?

Be relevant คือการที่เราสามารถอธิบายได้ว่า เราทำอะไรอยู่ จุดหมายของเราคืออะไร ทำไมเราถึงต้องเกิดขึ้นและมีตัวตนไปเรื่อยๆ Easy to communicate หรือง่ายต่อการอธิบายให้ผู้อื่นรู้ ยกตัวอย่าง 2 เคสที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยธุรกิจแรกบอกว่าเราจะทำให้รายได้ของผู้หญิงเพิ่มขึ้น 20% กับธุรกิจที่สองบอกว่าเราจะทำให้รายได้ของผู้หญิง 300 คน เพิ่มขึ้นจาก 6000 บาทเป็น 7200 บาท/เดือน หากเราเป็นนักลงทุน เราจะเลือกลงทุนธุรกิจไหน? แน่นอนว่าในแง่ของนักลงทุน ยิ่งมีความชัดเจน และสามารถระบุได้ละเอียดมากแค่ไหน ยิ่งทำให้คนทั่วไปเชื่อมั่นในตัวเราว่ากำลังทำอะไรอยู่และรู้ว่าเราวัดผลอย่างไร

Point to the right direction หรือว่ากำหนดทิศทางในอนาคตของเรา หากเราเก็บข้อมูลทางสังคมหรือผลลัพธ์ทางสังคมได้ดี เราจะสามารถย้อนกลับไปดูได้ว่าเราผิดพลาดตรงไหนและเราสามารถทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร สมมติว่าเป็นธุรกิจพื่อสังคมที่ต้องการช่วยผู้หญิงที่เป็นม่ายโดยทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราทำได้คือไปขยายตลาดให้กับพวกเขา ซึ่งปัจจุบันเขากำลังขายสินค้าจักสานงานฝีมือ โดยเราเชื่อว่าถ้าตลาดขยายขึ้น รายได้เขาจะเพิ่มขึ้น และความเป็นอยู่ของเขาจะดีขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป เราได้กลับไปดูบัญชีการเงินของธุรกิจแล้วพบว่า ธุรกิจของเราสามารถขยายขึ้น 30% ทุกปี แสดงว่าเราวิเคราะห์ได้ถูกว่าตลาดนี้มีศักยภาพในการขยายได้ มีคนต้องการซื้อ และทุกคนเข้าใจว่าการช่วยผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าเมื่อย้อนกลับไปดูผลลัพธ์ทางสังคม ปรากฏว่ารายได้ของผู้หญิงกลุ่มนี้กลับเพิ่มขึ้นแค่ 5% แสดงให้เห็นว่าหากเราไม่เก็บข้อมูลทางสังคมไว้ เราอาจคิดไปเองว่า 30% ที่โตขึ้นนั้นดีกว่าที่เราวางแผนไว้ตอนต้นด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าเราทำโครงการนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เราจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกมากมายต่อสังคม แต่ในความเป็นจริง รายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นแค่ 5% และเมื่อเราลงลึกไปถึงสาเหตุจึงพบว่า แม้เราจะขยายตลาดให้กับพวกเขาได้แล้ว แต่เนื่องจากผู้หญิงกลุ่มนี้มีภาระทางครอบครัวมากมาย เช่น ตื่นแต่เช้ามาเตรียมงานบ้าน พาลูกไปโรงเรียน ทำให้ไม่มีเวลาผลิตได้ตามปริมาณความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการขยายตลาดไม่ได้ช่วยให้พวกเขามีรายได้เพิ่มมากขึ้นเพราะพวกเขาขายสินค้าได้ในปริมาณเท่าเดิมและไม่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น แนวทางแก้ไขปัญหานี้ควรมีการเปลี่ยนแปลง

ขั้นตอน

วิธีวัดผลลัพธ์ทางสังคมมีมากมาย เช่น NPC’s, ECG 8 หรือ SROI โดยแต่ละโมเดลมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น SROI จะเน้นที่ผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการ โดยแปลงผลลัพธ์ทางสังคมเป็นตัวเลขทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนของแต่ละวิธีจะเหมือนกันเสมอคือ

Plan Your Logic Model วางแผนธุรกิจของเราว่าจะแก้ไขปัญหาอะไร และกิจกรรมใดจะช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม Do หรือการลงไปเก็บข้อมูล ซึ่งนอกจากการเก็บข้อมูลหลังเริ่มดำเนินการ เราควรเก็บข้อมูลก่อนที่กิจกรรมของเราจะเกิดขึ้นด้วย เพื่อเราจะได้รู้ข้อมูลพื้นฐานก่อนที่โครงการหรือธุรกิจของเราจะเริ่มดำเนินการ เช่น สภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มเป้าหมายก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไร และเมื่อมีโครงการหรือธุรกิจของเราแล้ว เราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน Assess วิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาโดยเปรียบเทียบกันกับข้อมูลพื้นฐาน เพื่อให้รู้ว่าเราสามารถลงไปแก้ไขตรงไหนแล้วจะสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง

ปัญหาที่เราต้องการแก้ไขคือ ผู้พิการทางสายตามีงานให้เลือกทำน้อยมาก แม้ว่าพวกเขาจะอยากทำอะไรมากมายแต่โอกาสค่อนข้างจำกัดและรายได้ค่อนข้างน้อย เราต้องการแก้ปัญหาตรงนี้

ธุรกิจเพื่อสังคมที่เราคิดคือ ธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นร้านอาหารที่จ้างงานผู้พิการทางสายตา ปัญหาที่จะแก้คือต้องการให้ผู้พิการมีรายได้มากขึ้นและต้องการให้ผู้พิการสามารถดูแลตัวเองได้

ถ้าดูจากตาราง (ใส่ตาราง)

ในระยะสั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราจ้างงานผู้พิการทางสายตาแล้ว คือรายได้ของพวกเขาต้องมากขึ้นกว่าเดิม ในระยะถัดไป เมื่อเขามีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วเขาต้องสามารถดูแลตัวเองได้

สิ่งที่สำคัญของโมเดลตรรกะ (Logic Model) คือตัวชี้วัดทางสังคม เราต้องเลือกตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราต้องการจะวัด ในกรณีนี้ผลลัพธ์คือรายได้ของผู้พิการทางสายตาจะต้องเพิ่มขึ้น ดังนั้นตัวชี้วัดคือรายได้ของผู้พิการ

ส่วนเรื่องคนพิการสามารถดูแลตัวเองได้นั้น ตัวชี้วัดอาจเป็นค่าใช้จ่ายของผู้พิการตลอดทั้งปีที่ผู้พิการสามารถดูแลได้โดยไม่ต้องยืมจากผู้อื่นหรือพึ่งพาสวัสดิการอื่น ๆ

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เวลาที่วัดผลเพราะเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เราอาจจำได้แค่ว่าเราต้องการวัดแต่ไม่ได้ทำการวัดผลจริง ๆ เช่น ในส่วนแรก อาจต้องวัดทุกเดือน ส่วนที่สองอาจวัดปีละครั้ง

สิ่งสำคัญอีกประเด็นคือ ข้อมูลขั้นพื้นฐาน (Baseline) ซึ่งคือตัวเลขที่เราต้องเก็บข้อมูลก่อนเริ่มงานนั้น ๆ ถ้าเรารอให้เวลาผ่านไปก่อน เราจะไม่รู้ว่ารายได้คนพิการก่อนหน้านั้นเป็นเท่าไหร่ และจะไม่สามารถวัดได้ว่าเราสามารถช่วยทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นจริง ๆ หรือไม่ เช่น ในส่วนที่สองที่ต้องการวัดผลว่าพวกเขาสามารถดูแลตัวเองได้ ถ้าเราไม่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ต้น เราอาจไม่รู้ว่าผู้พิการสามารถดูแลตัวเองได้อยู่แล้วก็ได้

สิ่งที่สำคัญในขั้นตอนการวางแผนคือ

Logic model เราต้องแน่ใจว่ากิจกรรมที่เราทำสามารถทำให้ผลลัพธ์ทางสังคมเกิดขึ้นได้จริง Indicator ต้องเลือกตัวชี้วัดให้ถูกต้องและเหมาะสมกับผลลัพธ์ทางสังคมที่เราต้องการวัด Baseline เราต้องแน่ใจว่ามีการลงไปเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้น มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถวัดผลที่แท้จริงได้

ประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ในการวัดผลลัพธ์ทางสังคม

เคยวัดผลลัพธ์ทางสังคมให้กับธุรกิจเพื่อสังคมรายหนึ่งที่อยู่ไกลมาก ๆ ปัญหาคือเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นปลูกผักและเมล็ดผัก แต่พวกเขาต้องเดินทางไกลมาเพื่อลงไปขายของในเมืองและราคาก็ไม่เป็นธรรมเพราะต้องผ่านคนกลางมากมาย

ซึ่งธุรกิจเพื่อสังคมรายนี้เห็นว่าเขาสามารถรับซื้อเมล็ดผักในราคาที่ยุติธรรมเพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และพวกเขาอยากทำให้ผู้หญิงมีรายได้และมีความสำคัญในครอบครัวมากขึ้นเพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและมีบทบาทในสังคมมากขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือรายได้ของเกษตรกรทั้งชายและหญิงเพิ่มขึ้นจริง แต่เมื่อเราไปวัดผลกับเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เราพบว่าเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ขายเมล็ดผักให้กับธุรกิจเพื่อสังคมรายนี้แต่กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่ากันกับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย แสดงว่าธุรกิจเพื่อสังคมรายนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องรายได้ของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเพราะราคามีการปรับขึ้นอยู่แล้วหรือแนวโน้มของตลาดที่สนใจสินค้าจากภูเขาเพราะไม่มีแมลงไม่มีปัญหาด้านเคมี เลยทำให้ทุกฝ่ายรายได้ดีขึ้น แสดงให้เห็นว่าการมีอยู่หรือไม่มีธุรกิจเพื่อสังคมรายนี้ไม่มีผลต่อรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัตถุประสงค์ที่ต้องการทำให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เสียงมากขึ้นในครอบครัว มีส่วนร่วมมากขึ้นในชุมชนของเขา เป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากการซื้อขายและให้ผู้หญิงสามารถเป็นสมาชิกและมีบทบาทในการซื้อขายได้เลย แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนี้ช่วยให้ผู้หญิงกลุ่มเป้าหมายมีโอกาสทางสังคมมากกว่าผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่ง

ข้อควรระวัง

Logic Model เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ตัวชี้วัดก็เปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ถ้า Logic Model ของเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ต้องการเปลี่ยนตัวชี้วัด เราต้องแสดงถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนและต้องวัดผลทางสังคมได้จริง ๆ

จากประสบการณ์ทำงานกับหลายองค์กร เมื่อถึงจุดที่ต้องวัดผลทางสังคม การไม่ได้วางแผนการเก็บข้อมูลไว้อย่างดีตั้งแต่ต้นทำให้ไม่สามารถมีตัวเลขที่ต้องการใช้ในการอธิบายผลลัพธ์ทางสังคมได้จริง ๆ หรือการเก็บตัวเลขมากมายมหาศาลแต่ว่าตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้พูดถึงผลลัพธ์ทางสังคมตามวัตถุประสงค์ของเราเลย

สรุป

ความสำคัญของ Social Impact Assessment Be relevant คือการที่สามารถอธิบายได้ว่า กำลังทำอะไรอยู่ จุดหมายคืออะไร ทำไมธุรกิจนี้ถึงต้องเกิดขึ้นและมีตัวตนไปเรื่อยๆ Easy to communicate หรือง่ายต่อการอธิบายให้ผู้อื่นรู้ ซึ่งในมุมของนักลงทุน ยิ่งแนวคิดมีความชัดเจน และสามารถระบุได้ละเอียดมากแค่ไหน ยิ่งทำให้มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำและการวัดผลที่ได้รับ Point to the right direction หรือว่ากำหนดทิศทางในอนาคต หากมีการเก็บข้อมูลทางสังคมหรือผลลัพธ์ทางสังคมได้ดี จะสามารถย้อนกลับไปดูได้ว่ามีความผิดพลาดตรงไหนและสามารถทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร วิธีวัดผลลัพธ์ทางสังคมมีมากมาย เช่น NPC’s, ECG 8 หรือ SROI โดยแต่ละโมเดลมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น SROI จะเน้นที่ผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการ โดยแปลงผลลัพธ์ทางสังคมเป็นตัวเลขทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนของแต่ละวิธีจะเหมือนกันเสมอคือ Plan Your Logic Model วางแผนธุรกิจว่าจะแก้ไขปัญหาอะไร และกิจกรรมใดจะช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม Do หรือการลงไปเก็บข้อมูล ซึ่งนอกจากการเก็บข้อมูลหลังเริ่มดำเนินการ ควรเก็บข้อมูลก่อนที่กิจกรรมของเราจะเกิดขึ้นด้วย เพื่อจะได้รู้ข้อมูลพื้นฐานก่อนที่โครงการหรือธุรกิจของเราจะเริ่มดำเนินการ เช่น สภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มเป้าหมายก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไร และเมื่อมีโครงการหรือธุรกิจของเราแล้ว เราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน Assess วิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาโดยเปรียบเทียบกันกับข้อมูลพื้นฐาน สิ่งสำคัญอีกประเด็นคือ ข้อมูลขั้นพื้นฐาน (Baseline) ซึ่งคือตัวเลขที่เราต้องเก็บข้อมูลก่อนเริ่มงานนั้น ๆ ถ้าเรารอให้เวลาผ่านไปก่อน เราจะไม่รู้ว่ารายได้คนพิการก่อนหน้านั้นเป็นเท่าไหร่ และจะไม่สามารถวัดได้ว่าเราสามารถช่วยทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นจริง ๆ หรือไม่ เช่น ในส่วนที่สองที่ต้องการวัดผลว่าพวกเขาสามารถดูแลตัวเองได้ ถ้าเราไม่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ต้น เราอาจไม่รู้ว่าผู้พิการสามารถดูแลตัวเองได้อยู่แล้วก็ได้ สิ่งที่สำคัญในขั้นตอนการวางแผนคือ Logic model ต้องแน่ใจว่ากิจกรรมที่ทำสามารถทำให้ผลลัพธ์ทางสังคมเกิดขึ้นได้จริง Indicator ต้องเลือกตัวชี้วัดให้ถูกต้องและเหมาะสมกับผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการวัด Baseline ต้องแน่ใจว่ามีการลงไปเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้น มิฉะนั้นจะไม่สามารถวัดผลที่แท้จริงได้ ข้อควรระวัง Logic Model เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ตัวชี้วัดก็เปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ถ้า Logic Model ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ต้องการเปลี่ยนตัวชี้วัด ต้องแสดงถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนและต้องวัดผลทางสังคมได้จริง ๆ การไม่ได้วางแผนการเก็บข้อมูลไว้อย่างดีตั้งแต่ต้นทำให้ไม่สามารถมีตัวเลขที่ต้องการใช้ในการอธิบายผลลัพธ์ทางสังคมได้จริง ๆ หรือการเก็บตัวเลขมากมายมหาศาลแต่ว่าตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้พูดถึงผลลัพธ์ทางสังคมตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจเลย