Article

ถอดบทเรียนจาก SE Skill Share ครั้งที่ 2


" SE Skill Share กิจกรรมดีๆ ที่จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change: BC4C) ครั้งนี้นับเป็นการร่วมแบ่งปันข้อมูลโดยวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ที่มีความรู้และประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการระดมทุนสำหรับ SE ผ่านหัวข้อ “โอกาส-บทเรียนการระดมทุนของ SE จากแหล่งทุนในประเทศและเอเชีย” ที่ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. สภาพการณ์ของการลงทุนเพื่อสังคมในไทยและภูมิภาค 2. แนวโน้มของการลงทุนเพื่อสังคมในไทยและภูมิภาค 3. การเตรียมตัวของ SE เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน . ซึ่งแอดมินได้สรุปเนื้อหาสำคัญออกมาเป็นบทเรียนดีๆ 6 ข้อ ที่ SE ควรศึกษาและเข้าใจก่อนเริ่มการระดมทุน จะมีอะไรบ้างนั้นไปติดตามกันเลยค่ะ"

ภาพประกอบเนื้อหา

ประเภทของแหล่งเงินทุนสำหรับ SE ในปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค

💬 การลงทุนเพื่อสังคมมีขอบเขตค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ทุนให้เปล่าที่เน้นการสร้างผลกระทบ (Impact) ที่ชัดเจน ไปจนถึงการลงทุนที่เน้นผลตอบแทนทางการเงินร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  1. เงินทุนให้เปล่า (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการเข้าร่วมประกวดเพื่อชิงเงินรางวัลในโครงการต่างๆ)
  2. Angel Investor (บุคคลธรรมดาหรือกลุ่มบุคคลที่สนใจลงทุนเพื่อสังคม)
  3. กองทุนเพื่อสังคมที่เน้นเรื่อง impact เป็นหลัก
  4. Venture Philanthropy (ผู้ให้ทุนที่เข้าร่วมกับองค์กรเพื่อสังคมในประเด็นที่สนใจ)
  5. เงินกู้ สินเชื่อ (ในไทยมีโครงการที่ทำร่วมกับ SE Thailand เพื่อให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษกับ SE)
  6. การระดมทุนจากสาธารณชน (Crowdfunding) ผ่านช่องทางอย่าง taejai.com

รูปแบบของการระดมทุนจากสาธารณชน (Crowdfunding)

💬 การระดมทุนจากสาธารณชนในปัจจุบันมี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) เงินบริจาค (Donation) 2) การได้ของตอบแทน (Reward) 3) เงินกู้ยืม (Debt) 4) เงินลงทุน (Equity) ปัจจุบันสองแบบแรกจะไม่มีผู้กำกับดูแล แต่สองแบบหลังต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)

💬 taejai.com มีบริการให้ระดมทุนทั้งแบบ donation และ reward ซึ่งที่ผ่านมามี SE มาระดมทุนบน taejai.com หลายโครงการ ยกตัวอย่างเช่น SE หน้าใหม่ที่อยากเปลี่ยน idea เป็น prototype, SE เดิมที่อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือทดลองตลาด, SE ที่ต้องการเงินลงทุนก้อนแรกหรือเงินขยายกิจการ, SE ที่มีผลิตภัณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนเปราะบางและต้องการหาเงินอุดหนุน (subsidy) จากคนที่อยากช่วยเหลือ เป็นต้น

แนวโน้มการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นและกำลังจะแพร่หลายในอนาคต

💬 คุณสุนิตย์ เชรษฐา: ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในไทยที่น่าสนใจ คือ เริ่มมีการพูดถึงระบบ outcome funding ซึ่งเป็นการให้เงินสนับสนุนตามผลการเปลี่ยนแปลงโดยตรง เช่น หน่วยงานภาครัฐอย่าง สสส. กสศ. หรือ NIA จะเริ่มปรับรูปแบบมาทำงานแบบ สปสช. ที่เป็นการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขต่อหัว โดยมีเกณฑ์คุณภาพต่อหัวระบุไว้ชัดเจน โรงพยาบาลไหนทำงานได้ตามเกณฑ์คุณภาพนั้นก็จะมีเงินเหลือเลี้ยงตัวเองได้ หากมีการนำโมเดลนี้มาใช้กับกองทุนสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม ก็จะมีการนำตัวชี้วัดผลลัพธ์มาวัดแล้วให้องค์กรทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อแลกกับค่าบริการที่ผู้ให้ทุนจะเป็นผู้จ่ายให้ ระบบนี้จะทำให้สามารถดึงภาคเอกชนที่สนใจด้านการสร้างผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมด้วยได้

💬 คุณเอด้า จิรไพศาลกุล: รูปแบบการให้เงินในภูมิภาคที่มาจากการริเริ่มของคนรุ่นใหม่ (Next-gen) จะมีมากขึ้น ยกตัวอย่าง UBS ในสิงคโปร์ ที่นักธุรกิจรุ่นลูกนำเงินมารวมกัน แล้วพิจารณาว่าจะลงทุนกับองค์กรภาคสังคมหรือประเด็นไหน ในไทยเองก็มีโครงการที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก UBS คือ RD Capital ที่เป็นการรวมนักธุรกิจรุ่นใหม่กว่า 10 คน นำเงินมารวมกันคนละ 1 ล้านบาท เพื่อไปลงทุนกับ Local Alike โดยที่นักธุรกิจเหล่านี้ก็จะนำองค์ความรู้ในด้านที่ตนเชี่ยวชาญมาช่วย SE ด้วย

เข้าใจพื้นฐานธุรกิจของตัวเอง และรูปแบบ/ที่มาของแหล่งเงินทุน

💬 คุณสุนิตย์ เชรษฐา: ให้กลับไปดูที่เรื่องพื้นฐาน มองตัวเองว่าเราเหมาะกับโอกาสและรูปแบบการลงทุนประเภทไหน มีเป้าหมายและทิศทางการเติบโตอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เน้นการได้เงินลงทุนมาจากนักลงทุนเพียงทางเดียว, อยากระดมทุนจากประชาชน ซึ่งปัจจุบันทาง กลต. ก็เปิดช่องให้ SE ที่จดทะเบียนระดมทุนจากประชาชนทั่วไปได้, ในกรณีต้องใช้เงินทุนเยอะ เช่น การตั้งหรือขยายโรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยี ก็ต้องเน้นหา Impact Investors หรือกองทุนต่างๆ, ถ้าเพิ่งเริ่มต้นสร้าง prototype ก็ต้องระดมจากเงินให้เปล่า crowd-donation หรือ reward เป็นต้น เมื่อเข้าใจในความต้องการพื้นฐานของกิจการเราเองแล้ว เราถึงจะรู้ว่าต้องคุยกับนักลงทุนแบบไหนและเขาสนใจอะไรเป็นพิเศษ ก็ต้องทำความรู้จักและเข้าใจฝั่งนักลงทุนด้วย

สร้างความสัมพันธ์กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

💬 คุณเอด้า จิรไพศาลกุล: การทำงานกับนักลงทุนระดับภูมิภาค การสร้างความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องพาตัวเองไปให้เขารู้จักและพัฒนาความสัมพันธ์ให้ต่อเนื่อง ถ้ามีความสัมพันธ์กันระดับหนึ่งแล้ว แม้เขาจะไม่สามารถลงทุนกับเราได้แต่ก็จะเกิดการบอกต่อ หรือหากเขาเคยให้ทุนเราแล้ว ก็อาจจะมีการแนะนำนักลงทุนรายต่อไปให้ การสร้างความสัมพันธ์เช่นนี้จำเป็นทั้งกับผู้ให้ทุนแบบให้เปล่าและนักลงทุน นอกจากนั้นการมีผลลัพธ์ทางสังคมที่ชัดเจนและนำเสนอได้ชัดเจนก็สำคัญมาก ผู้ให้เงินในระดับภูมิภาคจะคำนึงถึงการสร้าง impact และความเป็นไปได้ของการขยาย impact สำหรับการให้เงินทุนช่วงขยายกิจการมาก

เป้าหมายของธุรกิจก็ต้องตรงกับเป้าหมายของนักลงทุน

💬 คุณธนกร พรหมยศ: จากการไปร่วมงาน AVPN (การประชุมประจำปีของเครือข่ายองค์กรผู้ให้ทุนภาคสังคมในภูมิภาคเอเชีย) ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้มองเห็นว่า Impact Investor ในระดับภูมิภาคมีจริง แต่มีหลากหลายรูปแบบและมีขอบเขตการทำงานที่กว้าง ต้องหาคนที่เหมาะกับเราให้เจอ นักลงทุนบางคนต้องการให้เราโตเร็วๆ บางคนอยากให้เราสร้างผลลัพธ์ด้านสังคมชัดๆ โดยมีกำไรช้าหน่อยได้ โดยประเด็นที่เขาสนใจก็ต้องตรงกับที่องค์กรเราทำด้วย หลายครั้งการถูกปฏิเสธจากผู้ให้ทุนมักเกิดจากเป้าหมายที่ไม่ตรงกัน สำหรับคนที่ต้องการหาทุนจาก Impact Investor ต้องทำการบ้านให้เยอะ ตอบคำถามให้ได้ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างไร ถ้ามีตรงนี้ชัดเจนก็จะพูดคุยกันได้ง่าย และหากมีโอกาสก็ควรจะขยายฐานลูกค้าไปในประเทศที่เราจะหา Impact Investor เพื่อให้เชื่อมโยงกับตัว Investor ได้ด้วย