Article

3 บทเรียนการบ่มเพาะ SE


"วันนั้นมี Urbie, A-chieve, Toolmorrow, Pack Solution, MaD และ OpenDream มาคุยๆกัน สรุปบทเรียนการเริ่มต้นของตัวเอง แล้วได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการบ่มเพาะที่พอจะมาเล่าสู่กันฟัง จะได้มีคนที่สนใจได้รับรู้และช่วยกันคิดต่อไปได้ ซึ่งก็คุยกันมากมายหลายเรื่องแต่อย่างน้อยพอจะมีสามประเด็นสำคัญ คือ Training workshop และเนื้อหาความรู้/เครื่องมือ ระบบ mentorship เรื่องเงินสนับสนุน"

"บันทึกแรก: Training, Mentor & Funding

3 บทเรียนการบ่มเพาะ SE

เราทำงานเรื่องการเปิดโอกาสหนุน SE หน้าใหม่ๆมาจะสิบปีแล้ว เลยถึงเวลาที่ต้องมาคิดใหม่ว่าเราได้บทเรียนอะไรในการบ่มเพาะ อะไร work หรือไม่ค่อย work แล้ว เราจะขยายผลและโอกาสอย่างไร นอกจากนั้นก็มีหน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่เริ่มสนใจสนับสนุน SE มากขึ้นเรื่อยๆ คงต้องมาคิดบทบาทกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีประโยชน์กับการสร้าง SE ecosystem ในเมืองไทยด้วย

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วจึงได้นัดคุยวงเล็กๆตอนเย็นๆกับ SE ที่เคยผ่านโปรแกรมบ่มเพาะ SE startup ที่ ChangeFusion และผมเคยเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่ Youth Social Enterprise Initiative (YSEI) เมื่อจะสิบปีที่แล้ว มาถึง UnLtd Thailand และ Banpu Champions for Change (ที่ทางบ้านปูทำอย่างจริงจังต่อเนื่องมาเจ็ดปีแล้วและกำลังจะขึ้นปีที่แปดในรูปแบบที่มีความแตกต่างไปพอควร) ซึ่งก็มีผู้ก่อตั้ง SE ที่พอจะว่างตรงกันมาระดมสมอง ช่วยกันคิดคำถามที่ว่าไปข้างต้น ไปพร้อมๆกับการอัดพิซซ่ากันอย่างถล่มทลาย

วันนั้นมี Urbie, A-chieve, Toolmorrow, Pack Solution, MaD และ OpenDream มาคุยๆกัน สรุปบทเรียนการเริ่มต้นของตัวเอง แล้วได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการบ่มเพาะที่พอจะมาเล่าสู่กันฟัง จะได้มีคนที่สนใจได้รับรู้และช่วยกันคิดต่อไปได้ ซึ่งก็คุยกันมากมายหลายเรื่องแต่อย่างน้อยพอจะมีสามประเด็นสำคัญ คือ

Training workshop และเนื้อหาความรู้/เครื่องมือ ระบบ mentorship เรื่องเงินสนับสนุน Training workshops & เนื้อหาความรู้/เครื่องมือ ข้อคิดเห็นเบื้องต้นก็คือจะต้องแบ่งเป็นสองลักษณะของเนื้อหา คือ

เนื้อหาทั่วๆไปที่จำเป็นต้องรู้ ซึ่งต้องฟังในลักษณะบรรยายเป็นหลัก เนื้อหาที่เป็นลักษณะเครื่องมือหรือต้องจับมือทำไปด้วยถึงจะเกิดประโยชน์ เนื้อหาส่วนแรกอาจไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาใน workshop มาอบรมอะไรมากนัก แต่อาจจะทำเป็น video หรือ self learning ไปเลย ให้ผู้ประกอบการไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง อาจมีตัวช่วยออนไลน์บ้างก็ได้ ความรู้และเนื้อหาส่วนนี้จำเป็นที่จะทำให้ SE ที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะสามารถปรับฐานให้ใกล้เคียงกันได้มากขึ้น

แต่เนื้อหาลักษณะที่สองซึ่งจำเป็นต้นจับมือทำจนได้ผลออกมานั้นน่าจะเป็นจุดเน้นของ workshop ในอนาคต ซึ่งก็ควรแบ่งให้ชัดๆตามระยะการเริ่มต้นของ SE ไปเลย เช่น ช่วงแรกสุดคงต้องเน้นเรื่องการเข้าใจปัญหาและการสร้างสินค้า/บริการที่แก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะเวลาในกระบวนการ workshop มันสั้นมาก จึงควร focus เฉพาะอะไรที่จะเกิดผลจับต้องได้และจำเป็นต้องใช้ตอนนั้นจริงๆเท่านั้น เช่น เรื่องการทำ pitch, product/service ototype และการตั้งเป้าเรื่องผลต่อสังคมและการเงินที่วัดผลได้แล้วยังตอบโจทย์ปัญหาจริง

ส่วนอย่างอื่นตัดออกไปให้หมดก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มมา ตามระยะ เช่น เรื่องการทำแผนธุรกิจ branding marketing การเงิน การวัดผลทางสังคมอย่างเป็นระบบ เป็นต้น แต่ก็ควรผสมกระบวนการ offline กับ online ให้ได้สมดุล ซึ่งก็คือการจัดเวลาระหว่างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และการเจอกันจริงๆนั้นเอง

ซึ่งถ้าเนื้อหาออนไลน์ทำได้ดีก็สามารถจะเป็นการสร้างโอกาสให้ SE ที่อาจจะยังไม่มีความพร้อม หรืออยู่ไกลจากที่จัดอบรม ให้สามารถเรียนรู้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งสองอย่างด้วย และอาจจะเป็นเครื่องมือให้องค์กร หน่วยงาน หรือเครือข่ายอื่นๆที่อยากจะบ่มเพาะ SE ในพื้นที่ตัวเอง สามารถมาให้ประโยชน์จากเนื้อหาเหล่านี้ร่วมกันได้

ระบบ mentorship

ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าควรจะแปล mentor ว่าคือพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาหรืออย่างไร แต่สรุปได้ว่าการทำ matching ระหว่าง SE กับ mentor ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมากๆอาจจะไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะทุกอย่างยังไม่ค่อยชัด ยังไม่รู้จะแนะนำต่อยอดหรือเชื่อมโยงอะไรกันได้มากนัด เลยต่อกันไม่ค่อยจะติด

แต่สิ่งที่ได้ผลและมีความจำเป็นมากๆในช่วงเริ่มต้นคือการมีระบบพี่เลี้ยงหรือกลุ่มที่ปรึกษาที่สามารถจะแนะนำเจาะไปที่ประเด็นของการทดลองสินค้า/บริการกับตลาด (market testing) ว่าอะไรแบบนี้ตลาดในวงการต่างๆหรือผู้บริโภคจะต้องการไหมอย่างไร มีประสบการณ์ในตลาดนั้นๆพอที่จะให้ความเห็นได้ระดับหนึ่ง คือเสมือนเป็นกลุ่มลูกค้าทดลองที่แนะได้ ไม่ต้องให้ SE ไปงมหาเอาเองอย่างเดียวเพราะบางทีก็อาจจะเข้าไม่ถึงตลาดเหล่านั้น หรือไม่มี connection จะไปหาผู้คนที่เกี่ยวกับวงการนั้นๆ

customer feedback อาจจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอย่างแรกๆที่ต้องได้มา แม้สินค้า/บริการอาจยังอยู่ขั้นไอเดียหรือต้นแบบที่ไม่สมบูรณ์เลยก็ตาม การที่จะจัดการให้ได้พบกับ mentor หรือที่ปรึกษาที่ให้ insight ในเรื่องนี้ได้จึงสำคัญมากๆ อาจช่วยลดเวลาหรือช่วยปรับทิศทางของ SE นั้นๆได้ไปได้มากที่เดียว จริงๆการสร้างกลุ่ม pool ของผู้ที่จะสามารถให้ insight ในเชิง market testing สำหรับสินค้าหรือบริการนี้อาจจะไม่ได้จำเป็นว่าคือ mentor แต่เรียกว่าเป็นกลุ่มที่ปรึกษาอาจจะตรงกว่า

ส่วนระบบ mentor ที่ work จริงๆอาจจะเหมาะสำหรับ SE ที่อยู่ในระยะที่มีสินค้าบริการและทดลองตลาดไปได้บ้างแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องได้ความคิดเสริมหรือได้ข้อแนะนำในมุมของ strategy, operations, finance, branding หรือ impact measurement ที่เฉพาะเจาะจงลงไป บทเรียนสำคัญก็คือการทำ matching หนึ่งต่อหนึ่ง คือหนึ่ง SE ต่อหนึ่ง mentor นั้นอาจจะไม่ค่อย work เพราะ mentor แต่ละคนก็อาจจะแนะนำ SE กันไปคนละอย่าง คนละทิศทางเลย ที่ผ่านมามี SE ที่ตั้งไข่ได้พอใช้ได้แต่พอเจอข้อคิดเห็น mentor หลายๆคนเข้าก็เริ่มจะสับสนในทิศทาง หรืออาจจะพุ่งไปทิศที่อาจจะไม่เหมาะกับตัวเองนักเพราะฟังคนแนะนำมากเกินไป

ส่วนหนึ่งของความท้าทายก็อาจจะเกิดจากความจริงที่ว่า mentors หลายๆคนอาจจะเป็น professsional ที่มีความรู้จากหลากหลายสาขาอาชีพ มีข้อแนะนำที่ SE สามารถได้ประโยชน์ได้จริงๆ แต่ก็มักจะมาจากบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งอาจมีวิธีคิดวิธีจัดการที่แตกต่างออกไป แตกต่างไปจากบริษัทขนาดเล็กที่ริเริ่มใหม่ จึงควรให้มีคนที่ทำ SMEs หรือ SEs มาประกบอยู่ในกลุ่มด้วย โดยเฉพาะคนที่ SE กันมาก่อนจะมีประโยชน์มาก เพราะผู้ประกอบการเพื่อสังคมจริงๆก็มักจะมีความดื้อส่วนตัวกันพอควร ไม่งั้นก็คงไม่มาทำอะไรแบบนี้ ดังนั้นจะที่ปรึกษาหรือ mentor หรือผมพูดอะไรไป ผู้ประกอบการก็มักจะไม่เชื่อเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็น SE ที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วบ้าง หรือล้มเหลวในบางอย่างมาแล้ว ผู้ประกอบการจะฟังและคิดตามเป็นพิเศษ

ทางออกของเรื่องนี้คือการทำ mentor แบบกลุ่ม คือ mentors หลายคนจับกับ SE รายเดียว มีการกำหนดความคาดหวังให้ตรงกัน เน้นอะไรที่ทำได้ในระยะไม่กี่เดือนข้างหน้ามากกว่าจะไปจับกับอะไรที่ระยะยาวเกินไป และให้มีข้อคิดเห็นร่วม มี consensus ระหว่าง mentors ด้วยกันเอง ว่าเมื่อมองกันหลายๆมุมแล้วควรจะแนะนำไปทิศไหนได้บ้างเป็นหลัก ส่วนใครมีความเห็นแตกต่างออกไปก็ให้สื่อสารอย่างชัดเจนว่าเป็นความเห็นของคนนั้นๆ ไม่ได้เป็นข้อคิดเห็นร่วมของทั้งกลุ่ม แล้วการที่มี mentor หลายๆคนทำงานร่วมกันก็ทำให้เกิดแรงจูงใจความสนุกสนาน และการกดดันในกลุ่มกันเองว่าจะต้องมาร่วมช่วยกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางนี้ ChangeFusion ได้ทดลองอย่างชัดเจนในโครงการเช่น Global Impactors Network ที่ดำเนินการร่วมกับ Oxfam และเริ่มขยายผ่านความร่วมมือกับภาคีไปที่อินโดนีเซีย และญี่ปุ่นจนเกิด Women Impactors Network ขึ้นมาที่ญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยเอง SE ที่สามารถมาช่วยทำกระบวนการจัดการ mentors ลักษณะนี้ และเป็นคนทำให้งานของเรา ก็คือ Hand Up Network ซึ่งก็เป็น SE ที่ผ่านการบ่มเพาะจากโครงการบ้านปูฯมาก่อน

เรื่องเงินสนับสนุน

สิ่งที่ SE หลายๆคนเห็นตรงกันก็คือเงินสนับสนุนช่วงริเริ่มนั้น แม้จะไม่ใช่จำนวนที่มาก แต่ก็มีความสำคัญอย่างมากในการเริ่มต้น หลายคนบอกว่าที่โครงการบ่มเพาะที่เราช่วยกันทำนั้นนำไปสู่การเกิดขึ้นของ SE หน้าใหม่จริงๆเมื่อเทียบกับโครงการบ่มเพาะอื่นๆที่คล้ายๆกันแต่มักจะจบที่การพัฒนาไอเดียหรือแผนแต่ยังไปไม่ถึงการสร้าง SE ใหม่ๆได้ สาเหตุหนึ่งมาจากการที่เรามีเงินเริ่มต้นให้เพียงพอถูไถในการที่จะเริ่มทดลองสินค้าหรือบริการบางอย่างจริงๆ และก็ยังเป็น commitment หรือสิ่งที่เป็นคำมั่นสัญญาว่าต้องทำอย่างจริงจังอีกด้วย และตัวเงินก็ยังผูกอยู่กับสัญญาที่มีทั้งแผนดำเนินงานและตัวชี้วัดเบื้องต้นทั้งในส่วนของผลต่อสังคมและผลทางธุรกิจ ไม่ใช่เงิน award ทั่วๆไปที่ไม่ได้ผูกกับเงื่อนไขอะไร จึงสรุปได้ว่าเงินสนับสนุนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด SE หน้าใหม่​

นอกจากนั้นเรามีกระบวนการให้ทุนสนับสนุนแบบสองระยะตามความพร้อมภายในเวลา 3-4 เดือน คือเริ่มให้ 50,000 บาทสำหรับการพัฒนาต้นแบบสินค้าหรือบริการและการทดสอบตลาด ซึ่งมักจะสนับสนุนปีละราว 10 ทีม ซึ่งพวกเขาจะมีเวลา 3-4 เดือนในการบรรลุเงื่อนไขตัวชี้วัดและแสดงความพร้อมในการนำเสนอรอบสนับสนุนถัดไปที่ราว 200-300k บาทต่อทีม ซึ่งจะเหลือให้ประมาณ 4-5 ทีม ซึ่งทำให้เกิดความกระตือรือร้นอยู่บ้างระหว่างทีมต่างๆเพื่อจะเร่งให้เกิดผลจริงจนนำไปสู่การสนับสนุนในรอบถัดไป SE หลายรายก็บอกว่าแนวนี้จริงๆก็มีผลทำให้พวกเขารู้สึกกดดันพอสมควร แต่ก็ทำให้สามารถมุ่งที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จให้ได้ในระยะเวลาและทรัพยากรที่แสนจำกัด ต้องเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรในเวลาที่มี ต้องคอยแอบมองเพื่อนๆในรุ่นเดียวกันว่าไปถึงไหนกันแล้วเทียบกับตัวเอง ซึ่งก็กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับพวกเขาในช่วงเริ่มต้น

การสร้างกระบวนการที่มีการแบ่งเงินเป็นรอบๆที่จำนวนเงินมากขึ้นเรื่อยๆแต่จำนวนองค์กรที่ได้น้อยลงนั้นเป็นบทเรียนที่เราได้มาตั้งแต่สมัยโครงการสนับสนุน SE ในเอเชียยุคแรกๆเกือบสิบปีที่แล้วที่ชื่อ Youth Social Enterprise Initiative (YSEI) ซึ่งตอนแรกก็ให้เงินสนับสนุนจำนวนเท่าๆกันสำหรับทุก SE ที่เข้ารอบตลอดช่วงการบ่มเพาะประมาณหนึ่งปี แต่ผลที่เกิดตอนนั้นก็คือเมื่อได้เงินไปแล้วก็มักจะไม่ค่อยกระตือรือร้นหรือไม่ค่อยปรับตามสถานการณ์ในตลาดหรือคำแนะนำของที่ปรึกษา / mentor เท่าไหร่ แต่พอปรับมาเป็นลักษณะที่ให้เงินจำกัดเป็นช่วงแล้วต้องแข่งกันเพื่อจะได้เงินสนับสนุนในรอบถัดไปนั้น ทำให้พฤติกรรมของผู้ประกอบการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด สามารถ focus ในเรื่องสำคัญๆให้เกิดผลได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้นและสนใจเรื่องการบรรลุตัวชี้วัดสำคัญต่างๆมากขึ้น ตั้งแต่นั้นก็เลยทำตามแนวนี้มาตลอด

ข้อคิดเห็นของ SE หลายคนก็บอกว่าเงินสนับสนุนรอบแรกในระยะการสร้างต้นแบบสินค้าหรือบริการนั้นอาจจะไม่ต้องใช้เงินเยอะมากก็ได้ เพราะหลายๆคนก็ไม่รู้จะใช้ทำอะไร เพราะยังไงก็ไม่ควรใช้จ้างตัวเองอยู่แล้ว แต่ที่ควรมีเพิ่มในเชิงงบสนับสนุนก็คือระยะที่สองที่ต้องต่อยอดจากต้นแบบไปสู่การทำธุรกิจจริงซึ่งเงินสองหรือสามแสนนั้นก็มักจะไม่พอ กว่าพวกเขาจะตั้งไข่ได้ กว่าจะมีลูกค้าเป็นเรื่องเป็นราวพอที่จะใช้รายได้เป็นเงินหมุนเวียน หรือจะไปกู้ธนาคารก็ต้องใช้เวลาเป็นปี ในมุมทางการเงินก็เลยอาจจะขาดช่วงไปพอควร เพราะ SE ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีสายป่านอะไร จึงทำให้ช่วงแรกๆลำบากในทางการเงินกันมาก หลายๆที่ก็แห้งกรอบตายกันไปในช่วงจังหวะเวลาที่เป็นช่องว่างนี้ ไม่ได้ต่างอะไรกับ SMEs ที่ต้องพบเจอปัญญาเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าโปรแกรมบ่มเพาะจะต้องสนับสนุนเงินเพียงพอในช่วงช่องว่างนี้เองทั้งหมด อาจจะต้องสร้างเครื่องมืออื่นๆหรือโครงการอื่นๆมาช่วยในช่วงเติบโตช่วงแรกๆที่เป็นช่องว่างทางการเงินนี้ แนวคิดหนึ่งที่หลายๆคนพูดก็คือทำเงินกองทุนหมุนเวียนสำหรับ SE ด้วยการช่วยกันเองลงขันเงินกันเอง ยืมกันเอง แล้วค่อยๆขยายจนเอาเงินคนที่สนใจหรือผู้ลงทุนมาผสมด้วย กลายเป็นคล้ายๆ loan fund หรือ กลุ่มออมทรัพย์ ที่ริเริ่มช่วยเหลือกันเอง ในเกาหลีก็มีตัวอย่างที่มี SE ราว 40 รายที่เอาเงินมาใส่กองกลางร่วมกันแล้วผลัดกันยืมใช้ระยะสั้นสำหรับเงินหมุนเวียนต่างๆ จนเติบโตเป็นเงินหลายแสนเหรียญและมีหน่วยงานรัฐและนักลงทุนทางสังคมมาร่วมผสมโรงในกองทุนนี้ ซึ่งก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยด้วยกันเอง แนวทางนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำได้และ ChangeVentures (เป็น SE ที่ spin-off ออกมาจาก ChangeFusion เพื่อจะมาจัดการเรื่องการลงทุนเพื่อสังคมโดยเฉพาะ) ก็น่าจะเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะเริ่มทดลองแนวทางนี้ได้

นอกจากเรื่องพวกนี้ที่แลกเปลี่ยนคุยกันก็ยังมีเรื่องไร้สาระอีกเยอะที่คงไม่ต้องสรุปในที่นี้ ผมหวังว่าข้อสรุปและข้อคิดเห็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเรากันเองว่าจะปรับและขยายผลโครงการบ่มเพาะที่มีอย่างไร หรืออาจจะมีประโยชน์ในเชิงแนวคิดสำหรับหลายๆองค์กรก็กำลังสนใจทำเรื่องการบ่มเพาะโครงการทางสังคมกันอีกหลากหลาย ซึ่งหลายๆที่บ่มไปบ่มมาก็อาจจะโยงกับเรื่อง SE ด้วย

มาช่วยกันแลกเปลี่ยนบทเรียน ความคิด และแผนการที่จะบ่มเพาะหรือสร้างพื้นที่ให้เกิด SE กันขึ้นอีกเยอะๆอย่างมีคุณภาพกันเถอะ 🙂

จบบันทึกที่ 1"