Article

มารู้จัก social enterprise กัน


มารู้จัก social enterprise กัน

ภาพประกอบเนื้อหา

"หลายท่านอาจเคยได้ยินและสงสัยว่า “กิจการเพื่อสังคม” หรือ “Social Enterprise (SE)” คืออะไร? ธุรกิจนี้มีความเหมือนหรือแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆหรือองค์กรรูปแบบอื่นอย่างไร?

ในบทเรียนแรกนี้ เรามาทำความรู้จักกับกิจการเพื่อสังคมหรือเรียกโดยย่อว่า SE ผ่านการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ประกอบการเพื่อสังคม 2 ท่าน คือ คุณไผ (คุณสมศักดิ์ บุญคำ) จากกิจการเพื่อสังคม Local Alike ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อความยั่งยืน และ คุณลูกแก้ว (คุณภัสสร์วี ตาปสนันทน์) จากกิจการเพื่อสังคม FolkCharm แบรนด์เสื้อผ้าที่นำเสนอแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

กิจการเพื่อสังคมคืออะไร?

“กิจการเพื่อสังคมคือกิจการที่มีลักษณะเป็นธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในระดับที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันมีการวัดผลการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากกิจการและสามารถขยายผลการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ในอนาคต”

จากคำจำกัดความข้างต้น ทั้งสองคนมีมุมมองอย่างไรต่อกิจการเพื่อสังคม?

คุณไผ: คือการทำธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และอยู่ได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกัน สามารถสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่และต้องการแก้ไข เช่น เราสนใจเรื่องความไม่ยั่งยืนของการท่องเที่ยว เราต้องวิเคราะห์ว่า ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างไร? ใครคือผู้ให้บริการ? และพวกเขาได้รับความเป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทานนี้หรือไม่? และต้องทำอย่างไรเพื่อให้พวกเขาสามารถลุกขึ้นมาจัดการตัวเองได้? ซึ่งเรามองว่าชุมชนต่าง ๆ แทบไม่มีโอกาสทางตลาดด้านการท่องเที่ยวเลย

“เราเชื่อว่าชาวเขาทำอะไรได้มากกว่าการขายสร้อยและแต่งตัวให้ถ่ายรูป เพียงแต่แรงสนับสนุนให้พวกเขาลุกขึ้นมาจัดการตัวเองนั้นมีน้อย ดังนั้นการจัดการรายได้อย่างเป็นธรรมจึงเป็นไปได้ยาก”

คุณลูกแก้วมีความคิดที่คล้ายกัน โดยเธอกล่าวเสริมว่า กิจการเพื่อสังคมเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์หรือปัญหาบางอย่าง โดยต้องเป็นประเด็นที่เรารู้สึกอินและมั่นใจว่าสามารถอยู่เรียนรู้และฝ่าฟันเพื่อแก้ปัญหานั้นให้ได้

“ไม่ใช่แค่เห็นปัญหาแล้วเข้าไปช่วย ต้องมองกว้างกว่านั้นว่าเราอยากทำจริงไหม? เรามองว่าเป็นปัญหาจริงๆหรือไม่?”

แล้วเหตุใดถึงต้องเป็นกิจการเพื่อสังคม?

การแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมบางอย่างสามารถดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างรายได้ ซึ่งรูปแบบการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมักมาจากการระดมทุนผ่านทางองค์กรต่าง ๆ หรือจากประชาชนทั่วไป ซึ่งการระดมทุนเช่นนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน และไม่ยั่งยืน ดังนั้นกิจการเพื่อสังคมจึงเป็นทางออกสำหรับผู้ที่สนใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยสามารถมีรายได้เพื่อดำเนินธุรกิจของตนเองและทำให้การแก้ปัญหานั้นมีความยั่งยืนมากขึ้น

แล้วกิจการเพื่อสังคมแตกต่างจาก Corporate Social Responsibility (CSR) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร อย่างไร?

CSR เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยมีเป้าหมายในการทำกำไรสูงสุด ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ดำเนินกิจกรรมตามสินค้าและบริการของตนเองเป็นหลัก แล้วจึงพิจารณาว่าธุรกิจของตนนั้นสามารถรับผิดชอบหรือแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนเสริมได้อย่างไร?

ในขณะที่กิจการเพื่อสังคมมีเป้าหมายหลักที่ชัดเจนคือเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกิจการสามารถสร้างรายได้และกำไรเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

จากข้อความข้างต้น เราสัมภาษณ์คุณไผและคุณลูกแก้วถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

คุณไผ: เมื่อตอนเริ่มต้นทำธุรกิจไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นกิจการเพื่อสังคม เพียงแต่อยากทำธุรกิจที่ตอบโจทย์เรา ตอบโจทย์คนที่เราทำงาน และตอบโจทย์ลูกค้าด้วย ซึ่งโมเดลของกิจการเพื่อสังคมสามารถตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้ได้มากกว่าโมเดลองค์กรไม่แสวงหากำไร

คุณลูกแก้ว: เริ่มทำธุรกิจเพราะมองว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรไม่มีความยั่งยืน และการหาทุนสนับสนุนทำให้ชาวบ้านหรือชุมชนที่ได้รับประโยชน์เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวยึดติดกับเงินสนับสนุนโดยไม่พยายามยืนให้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นโมเดลกิจการเพื่อสังคมจึงตอบโจทย์และมีความยั่งยืนมากกว่า

ความคิดช่วงก่อนและหลังดำเนินกิจการเพื่อสังคมมีความเหมือนและแตกต่างอย่างไร?

คุณลูกแก้วกล่าวว่า หลังจากที่เธอได้เริ่มดำเนินกิจการเพื่อสังคมแล้วนั้น เธอค้นพบว่าไม่มีสิ่งใดเหมือนกับที่เธอเคยคิดไว้เลย นอกจากเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสังคม

“ปัญหาที่เราเห็นในตอนแรกนั้นเป็นส่วนผิวมาก ๆ เมื่อทำงานไปสักพักจึงรู้ว่าโมเดลทางธุรกิจ ความมุ่งมั่น และเป้าหมายยังคงเหมือนเดิม แต่กระบวนการทำงานต้องปรับให้เข้ากับตลาด เข้ากับชาวบ้าน และเข้ากับจริตของตนเอง”

ส่วนคุณไผเสริมว่า ในตอนแรกคิดว่ากิจการเพื่อสังคมสามารถขายได้ด้วยตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว

“ลูกค้าไม่ได้มองเป็นประเด็นหลัก แต่ลูกค้าต้องการสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ”

เช่น เราทำการท่องเที่ยว บริการของเราต้องดี เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า Local Alike สามารถจัดสรรบริการที่มีคุณภาพระดับเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ในหมวดเดียวกันที่ไม่ได้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม

ซึ่งการค้นหาโมเดลการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ใช้เวลานานและผ่านการลองผิดลองถูก รวมทั้งการโต้เถียงกับหลายฝ่าย แต่เราต้องมีจุดยืน “เราเปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็น แต่เราเลือกแนวทางที่ทดลองปรับใช้แล้วเหมาะกับธุรกิจของเรา” คุณไผกล่าว

“เราต้องเชื่อสัญชาตญานของเรา เพื่อให้มีกลิ่นอายความเป็นตัวตนของเราในธุรกิจนั้น” คุณลูกแก้วกล่าวเสริม โดยอธิบายต่อว่าในกรณีของเธอ มีความคาดหวังจากหลายฝ่ายให้เธอขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น แต่มุมมองของเธอคือต้องการเน้นด้านคุณค่ามากกว่าปริมาณ “เราอยากดูแลคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ดูแลเราแบบนี้ มากกว่าการสร้างผลกระทบทางสังคมที่ใหญ่โตแต่กลับไม่รู้จักใครเลยในกลุ่ม”

ถึงกระนั้นก็ตาม กลุ่มของเธอได้ขยายใหญ่ขึ้นกว่าตอนเริ่มต้นมาก และเป็นการเติบโตแบบยั่งยืนและค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนนั้น หากมองในมุมของชุมชน การทำงานกับกลุ่มเล็ก ๆ 2 – 3 กลุ่มสามารถทำงานในเชิงลึกได้มากขึ้น แต่ในมุมธุรกิจต้องมีการกระจายความเสี่ยง ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ดังนั้นเราพยายามกระจายแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลเพื่อให้ครบวงจรของการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ในปัจจุบันเราทำงานกับ 70 ชุมชนทั่วประเทศทุกภูมิภาค และเริ่มทำงานเชิงลึกมากขึ้นในแต่ละชุมชน คุณไผอธิบายเสริม

บทเรียนสำคัญในการทำงานกับชาวบ้านและรูปแบบความสัมพันธ์กับชาวบ้านที่ควรจะเป็นคืออะไร?

“ด้วยความที่เป็นคนกรุงเทพฯและทำงานกับชุมชนที่ค่อนข้างไกล สิ่งแรกที่เจอคือการเป็นเด็กกรุงโลกสวย ไม่เข้าใจจริง ๆ หรอกว่าปัญหาคืออะไรและต้องแก้อย่างไร?”

ซึ่งตั้งแต่เราเริ่มทำงานกับชุมชน แนวคิดของเราเปลี่ยนไปมาก หลายคนมองว่าเราไปพัฒนาชาวบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้มีความรู้ความสามารถมากไปกว่าพวกเขาทั้งในด้านการทอผ้า การดำรงวิถีชุมชน หรือแม้แต่การปลูกฝ้ายอินทรีย์

“เรามองว่าไม่ใช่การเข้าไปช่วยเหลือแต่เป็นการเอื้อเฟื้อกันเพื่อให้ทั้งเราและเขาอยู่ด้วยกันให้ได้ มีความเป็นหุ้นส่วนกัน มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน โดยสิ่งสำคัญคือทั้งเราและเขาต่างเติมเต็มในส่วนที่ขาดของกันและกัน”

คุณลูกแก้วเล่าถึงแรงเสียดทานที่ประสบในช่วงเริ่มต้นและมุมมองการทำงานกับชุมชนของเธอ

แตกต่างจากแนวคิดการพัฒนาทั่ว ๆ ไปที่มองว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมต้องไปช่วยชาวบ้านอย่างไร?

คุณไผเสริมว่า การมีความคิดว่าเราเข้าไปช่วยเหลือหรือวางแผนให้ชุมชนถือเป็นจุดบอดของการพัฒนาสังคมและชุมชนพอสมควร ซึ่งสาเหตุอาจมาจากระบบการทำงานในสังคมไทยที่มักเป็นแบบบนสู่ล่าง โดยมองว่าผู้ที่มีการศึกษาหรือตำแหน่งงานน้อยกว่าต้องเชื่อฟังผู้ที่สูงกว่า แต่องค์กรที่ประสบความสำเร็จในงานพัฒนาสังคมคือองค์กรที่มีการทำงานแบบร่วมกันกับชุมชน

“เรารู้สึกว่าชุมชนมีดี และเราเองก็มีดีบางอย่าง เราจึงมาทำงานร่วมกันเพื่อหาจุดที่ส่งเสริมกัน”

ชุมชนฟีดแบกมาว่าเราทำงานต่างจากที่อื่น ส่วนใหญ่มักมาสั่งเรา แต่เราทำงานร่วมกัน เช่นเวลามีองค์กรหน่วยงานเข้ามาหาเรา มักเป็นรถตู้ รถเก๋ง แต่งตัวสวยๆกันมา แต่สไตล์การทำงานของเราต่างออกไปคือมาแบบกางเกงขาสั้นปั่นจักรยาน ทำให้ perception คือระดับเดียวกันกับเขา ทำให้เขารู้สึกว่าคนนี้เขาเปิดใจได้

การยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นชุมชน และการยอมรับการทำงานในระนาบเดียวกับชุมชนหรือผู้ร่วมงาน ทำให้ธุรกิจมีจุดแข็งในการทำงานและสามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างไร?

คุณไผ: เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ชุมชนเห็นว่าเราทำงานแตกต่างจากที่อื่นซึ่งส่วนใหญ่มักมาสั่งให้ทำตาม แต่ Local Alike เป็นการทำงานร่วมกัน ทำให้พวกเขารู้สึกเปิดใจมากขึ้น และนำไปสู่ความเชื่อใจกัน ซึ่งเป็นการป้องกันคู่แข่งทางการค้าได้เป็นอย่างดี โดยที่เราไม่ต้องลงทุนอะไร

“มีบริษัทหนึ่งที่เราแนะนำให้รู้จักกับชุมชน แล้วเขาอยากติดต่อโดยตรงกับชาวบ้านโดยไม่ผ่านเรา ซึ่งชาวบ้านบอกว่าอย่าเลย ให้ติดต่อผ่านเรานี่แหละ เพราะพวกเราตั้งระบบมาด้วยกัน” แสดงให้เห็นว่าการสร้างความเชื่อใจและการยอมรับจากชุมชนช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของกิจการได้

ในส่วนของคุณลูกแก้วนั้น เธอกล่าวว่า สิ่งที่เรายึดเป็นปรัชญาคือความโปร่งใส ซึ่งเรายินดีมากถ้าหากมีใครต้องการทำงานกับชาวบ้านกลุ่มเดียวกับเรา เพราะเราอยากให้พวกเขามีตลาดเป็นของตัวเอง เพียงแต่ต้องมีระบบที่ชัดเจน โดยเฉพาะการวางราคาและการบริหารจัดการที่ไม่กระทบการทำงานของเรา ซึ่งความโปร่งใสทำให้การทำงานและทุกอย่างเป็นไปในแนวทางเดียวกันหมด

ควรมองการแก้ปัญหาสังคมแบบไหน? และควรเริ่มอย่างไร?

คุณลูกแก้ว: ไม่ควรมองว่าเราเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาเพราะทำให้การงานยากขึ้น ควรมองว่าเรามีจุดแข็งอะไรที่เราสามารถเติมเต็มให้พวกเขาได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและการทำงานให้ทันกับสถานการณ์และบริบทที่เกิดขึ้น

คุณไผ: ปัญหาสังคมเป็นปัญหาที่มีรากฝังลึกพอสมควร การหารูปแบบการแก้ไขปัญหาจึงต้องใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ดังนั้นคำถามที่พบบ่อยคือสิ่งที่กำลังทำอยู่ สามารถแก้ปัญหาสังคมได้จริงไหม? ซึ่งเราอาจตอบไม่ได้ในตอนนี้ว่าสุดท้ายแล้วรูปแบบการทำงานของเราสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะการคาดหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกมานานให้หมดไปภายใน 1-2 ปีนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เราสามารถประเมินว่ารูปแบบการทำงานของเรายังได้รับการยอมรับจากชุมชนหรือไม่? หากชุมชนยังมีความสุขและเชื่อใจเรา แสดงว่ารูปแบบการทำงานของเรายังไปได้ดีอยู่ ต้องไม่ลืมว่าหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาสังคมคือรูปแบบความสัมพันธ์และการทำงานแบบลึกซึ้งกับกลุ่มผู้ร่วมงานทุกฝ่าย

สามารถวัดผลความสำเร็จของการทำงานกับชุมชนอย่างไร?

คุณไผ: วัดจากสิ่งที่ตรงกับการทำงานของเรา เช่น เราต้องการพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชน เราต้องระบุตัวชี้วัดให้ได้ว่าเมื่อชุมชนผ่านกระบวนการทำงานกับเราแล้วพวกเขามีความสามารถหรือศักยภาพเพิ่มขึ้นไหม? และในระดับใด? มีความร่วมมือกันในชุมชนมากขึ้นไหม? มีการทำงานเป็นกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพไหม? หรือเราต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชุมชน เราต้องระบุตัวชี้วัดที่แสดงถึงการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม รายได้ของชุมชนเพิ่มขึ้นจริงไหม?

คุณลูกแก้ว: เราวัดผลกระทบของตัวเองจากปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในชุมชน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก ส่วนตัวชี้วัดในแงารายได้และความมั่นคงมีการเก็บข้อมูลอย่างชัดเจน และในส่วนของการเล่าเรื่องที่เรามองว่าเป็นส่วนสำคัญ เราพิจารณาว่าการเล่าเรื่องทำให้ชุมชนรู้สึกมีพลังขึ้นไหม? ซึ่งเราวัดจากปฏิกิริยาของชุมชนเมื่อได้เห็นผลิตภัณฑ์สำเร็จของพวกเขา หรือแม้แต่การปลูกฝ้ายที่หายไปแล้วก็กลับมาอย่างชัดเจนในพื้นที่ชุมชน ซึ่งเราคิดว่าเป็นผลกระทบจากหลายส่วนทั้งจากเราและจากภายนอก โดยชุมชนมองเห็นศักยภาพในการผลิตฝ้ายเอง พวกเขาจึงเริ่มปลูกและเริ่มอินกับการทอผ้า การย้อมสีธรรมชาติ และการผลิตฝ้ายมากขึ้น

เริ่มต้นคิดกระบวนการวัดความสำเร็จได้อย่างไร?

คุณไผ: ไม่ควรกำหนดตัวชี้วัดหลาย ๆ ตัว ควรกำหนดแค่ 1-2 ตัวที่สามารถจับต้องได้จริง ๆ ซึ่งเมื่อเราลงมือทำงานจริง ๆ เราจะทราบว่าตัวชี้วัดใดที่เหมาะกับงานของเรา และสามารถใช้ตอบคำถามต่อทั้งตัวเอง ชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสังคมได้

วงจรธุรกิจของกิจการเพื่อสังคม

การพัฒนาต้นแบบสินค้าและบริหารในช่วงแรกเป็นอย่างไร?

คุณไผ: เราทำงานกับชุมชนหลายระดับ แต่เราพยายามนำรูปแบบการทำงานแบบเดียวไปใช้กับทุกชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนมีปัญหาและความต้องการแตกต่างกันออกไป เราใช้เวลาพอสมควรในการหารูปแบบการทำงานที่เหมาะกับแต่ละชุมชน

อีกสิ่งสำคัญที่เราเรียนรู้คือการหาตลาดที่เหมาะสม ในช่วงแรกเราหลงทางเพราะคิดว่ากลุ่มลูกค้าของเราคือชาวต่างชาติ ส่งผลให้เกิดความสูญเปล่าพอสมควร แต่เมื่อเราศึกษาตลาดมาก ๆ เราพบว่ากลุ่มลูกค้าที่เหมาะกับเราคือกลุ่มบริษัทหรือองค์กร ซึ่งได้ผลตอบรับดีเกินความคาดหมาย บางบริษัทจัดทริปไม่ต่ำกว่า 100 ทริปต่อปี และเมื่อลูกค้ามีความเชื่อใจในเรา พวกเขาก็ให้เราจัดทริปต่อ ๆ ไป เช่น แอร์เอเชียที่ไว้วางใจให้เราจัดทริปไม่ต่ำกว่า 20 ทริปต่อปี

คุณลูกแก้ว: ในช่วงแรกเน้นการเล่าเรื่อง แต่พบว่าการผลิตสินค้าและบริการให้ได้คุณภาพสำคัญกว่า ต้องระลึกเสมอว่า เรามีเรื่องราวดีแค่ไหน หากผลิตภัณฑ์ของเราไม่ดี กิจการย่อมไปต่อไม่ได้ ลูกค้าอาจซื้อครั้งแรกเพราะต้องการช่วยแต่หลังจากนั้นเขาอาจไม่ซื้ออีกเลย ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพและตอบโจทย์ตลาดใช้เวลาเยอะและค่อนข้างยาก อีกทั้งมีต้นทุนจากการลองผิดลองถูก เช่น การทอผ้าฝ้ายแบบเข็ญมือซึ่งตัดเย็บค่อนข้างยากกว่าผ้าทั่วไป ทำให้ต้องทำความเข้าใจกับช่างในแนวทางการตัดเย็บผ้า รวมทั้งการออกแบบที่เหมาะสมกับเนื้อผ้า หรือการเรียนรู้กับชาวบ้านเพื่อหาทางพัฒนาคุณภาพของผ้าให้ดีขึ้นอีก ซึ่งในการขาย เราเน้นอธิบายถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นหลักแล้วจึงเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ภายหลังจากลูกค้าให้ความสนใจแล้ว

การสร้างแบรนด์และการตลาดมีความสำคัญอย่างไร?

คุณไผ: ในช่วงแรกไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อมีผู้เล่นเยอะขึ้น การที่บริษัทหรือลูกค้าเลือกทำงานกับเรา นอกจากความน่าเชื่อถือแล้ว จุดเด่นของเราต้องชัดเจน เช่น การแต่งกาย การพูดคุย ควรเป็นลักษณะเฉพาะของเรา

กล่าวโดยสรุปคือ ในช่วงระยะเริ่มต้นควรเปิดโอกาสในการค้นหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับธุรกิจ แล้วจึงมุ่งเน้นไปที่ส่วนสำคัญ ๆ รวมทั้งการวิเคราะห์ตลาดที่เหมาะสมกับกิจการ การพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้คุณภาพจนเกิดการบอกต่อ โดยอาจเริ่มจากกลุ่มลูกค้าเฉพาะ จากนั้นถอดบทเรียนจากกลุ่มลูกค้าที่รักและชอบเราจริง ๆ เพื่อนำมุมมองของลูกค้ามาแปลงเป็นตัวตนของเรา

บทเรียนเรื่องการจัดการทีมในช่วงเริ่มต้นเป็นอย่างไร?

คุณลูกแก้ว: เรามองว่าทุกคนมีศักยภาพและจุดอ่อน ซึ่งหัวใจในการบริหารคนคือการพัฒนาศักยภาพของบุคคล ดังนั้นเราต้องมอบหมายงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น ในช่วงแรกเราสนใจทำงานกับเด็กเพราะมองว่าทำงานได้หลายอย่าง ซึ่งต่อมาค้นพบว่าเราทำงานเข้ากันได้ดีกับผู้ใหญ่มากกว่า อาจด้วยวุฒิภาวะและความเข้าใจในความต้องการของตนเอง ทำให้เกิดแนวทางการทำงานที่เคารพต่อกัน

ทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่เคารพเรา?

ลูกแก้ว: ต้องมีความจริงใจในการคุย เช่น การกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนและเห็นพ้องต่อกัน โดยเราสามารถเปิดโอกาสให้เขาได้สร้างวิธีการทำงานของตนเอง ซึ่งผู้อาวุโสสามารถออกแบบวิธีการทำงานได้ดีมาก โดยเราไม่ต้องคอยบอกขั้นตอนแต่ละขั้น เราแค่บอกความต้องการของเรา หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเราต้องคุยด้วยเหตุผลเท่านั้น

คุณไผ: เริ่มต้นทำงานกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อแบบเดียวกัน และเชื่อในสิ่งที่เราทำ ดังนั้นทุกคนมาด้วยความตั้งใจและพร้อมที่จะเสียสละบางอย่าง โดยเราพยายามวางโครงสร้างองค์กรแบบแนวราบ ซึ่งผลที่เราได้รับคือการทำงานที่มีความสร้างสรรค์มาก ๆ แต่เมื่อทีมงานเริ่มเยอะขึ้น เราจำเป็นต้องเริ่มมีกฏเกณฑ์เพื่อเป็นกรอบในการทำงานและอยู่ร่วมกัน รวมทั้งการปรับรูปแบบการทำงานจากเดิมที่เป็นคนไม่เด็ดขาด ให้มีความเด็ดขาดมากขึ้น

ในช่วงปีแรกของการจัดตั้งทีมงาน ควรคำนึงเรื่องใดบ้าง?

คุณไผ: สมาชิกในทีมควรมีเป้าหมายและความสนใจหลักในเรื่องเดียวกัน แต่ไม่ควรมีมุมมองอย่างเดียวกันทั้งหมด เช่น สมาชิกในทีมควรมีทั้งผู้ที่สนใจงานด้านสังคมและผู้ที่มีแนวคิดทางธุรกิจ เพื่อความสมดุลย์ของการทำงาน อีกประเด็นคือการค้นหาและยอมรับในจุดอ่อนของตนเองเพื่อหาคนที่เก่งในด้านนั้นมาช่วยเสริม ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ ความชัดเจนของเอกสารหรือสัญญาต่าง ๆ ไม่ควรทำงานโดยปราศจากเอกสารหรือสัญญาใด ๆ

ลูกแก้ว: เริ่มต้นด้วยการทดลองเปลี่ยนแปลงในทุกอย่าง โดยเราพิจารณาว่าตนเองมีจุดบอดอะไร? และพยายามหาคนมาเติมจุดบอดนั้นให้ได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่และบทบาทของการทำงานในกิจการให้ชัดเจน “ผู้ประกอบการคือการประกอบหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน ดังนั้นการทำงานทุกอย่างเองย่อมเป็นไปไม่ได้” นอกจากนี้ ควรสังเกตลักษณะของสมาชิกในทีมว่ามีความชอบหรือความถนัดในด้านใด หากพบว่าไม่เหมาะสมกับงานของกิจการ ควรพูดคุยกับบุคคลโดยตรง

การหาทุน การระดมทุน และการจัดการการเงิน

ลูกแก้ว: ในตอนเริ่มต้น กิจการได้รับเงินทุนมาก้อนหนึ่ง ซึ่งหมดไปภายใน 3 เดือน และไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งการทำธุรกิจต้องไม่กลัวการขาดทุน แต่สำคัญคือการพยายามสร้างรายได้ให้กิจการสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเร็วที่สุด

“การลงทุนด้วยเงินทุนหรือแรงงานตนเอง ไม่ควรคิดว่าตนเองขาดทุนไปเยอะมาก เพราะการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงอยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่ควรระลึกคือความไม่ยั่งยืนของเงินทุนที่ได้รับ รวมทั้งการทำบัญชีรายรับรายจ่ายซึ่งช่วยให้เราทราบสถานการณ์ของกิจการ ส่วนใดควรลงทุนเพิ่ม หรือส่วนใดควรลดการลงทุนลง

คุณไผ: น่าจะเหมือนกับหลาย ๆ คน คือเมื่อได้เงินทุนมาหลักแสน มักชะล่าใจว่าเรามีเงินแล้ว แต่ในความจริงแล้วเงินหลักแสนคือหมดไวมาก ซึ่งเราคิดไม่ถึงจึงไม่ได้วางแผนเอาไว้ ยิ่งเรามีพื้นฐานด้านธุรกิจ พอเงินจะหมดเราก็ไม่กล้าบอกใคร เราอาย โดยทางออกของเราตอนนั้นคือการกู้ยืมเงินโดยใช้ตัวเองเป็นเครดิตจนมีหนี้เยอะมาก แล้วจึงเปลี่ยนเป็นบริษัทแทน และใช้เวลานานมากกว่าจะเป็นบวก ซึ่งการเรียนรู้การเงินและการบัญชีทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ทำให้รู้ว่าควรนำกำไรที่ได้รับมาลงทุนในส่วนใดบ้าง หรือสามารถสนับสนุนทีมงานที่เข้ามาร่วมงานได้อย่างน้อยกี่เดือนหรือกี่ปี สิ่งเหล่่านี้ต้องมีการวางแผนอย่างดี

คุณลูกแก้ว: ต้องเริ่มจากมีตัวเลขก่อน ถึงจะทำให้สามารถวิเคราะห์อะไรได้ คนอื่นก็จะได้ช่วยเราได้ถูกจุด

ต้องขยันจดตอนเริ่มกิจการ บันทึกรายรับรายจ่าย เป็นหนี้ใครบ้าง? หนี้ตัวเองเท่าไหร่?

การระดมทุนมีมิติการระดมทุนอย่างไร?

คุณลูกแก้ว: โดยปกติโมเดลแรกมักไม่ถูกหรอก สำคัญคือเราต้องปรับและปรับให้เร็ว เช่น ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นสินค้า ดังนั้นเราต้องหาตลาดที่เหมาะสม รูปแบบการขาย กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เราต้องปรับ

คุณไผ: เป็นขั้นตอนในการทำงาน จะคาดหวังว่ามีคนมาลงทุนในกิจการของคุณในตอนแรกเยอะเลยนั้นยาก นักลงุทนด้านสังคมค่อนข้างยาก คุณต้องพิสูจน์ก่อนว่าคุณทำได้ โมเดลคุณทำเงินได้ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ ในกรณีของ Local Alike เราเน้นทางสายประกวด ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเวทีประกวดด้วย และถึงแม้เราจะชอบการประกวด เราก็ต้องสรา้งรายได้จริง ๆ ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งจังหวะที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนคือช่วงที่กิจการสามารถสร้างรายได้และกำไรได้แล้ว โดยเราสามารถคัดกรองนักลงทุนได้และเห็นมูลค่าของกิจการที่ชัดเจนขึ้น

สรุป

กิจการเพื่อสังคมคือคือกิจการที่มีลักษณะเป็นธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในระดับที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วยตนเอง ทำให้มีความยั่งยืนในการแก้ไขประเด็นปัญหาเหล่านั้น ในขณะเดียวกันมีการวัดผลการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากกิจการและสามารถขยายผลการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ในอนาคต

กิจการเพื่อสังคมแตกต่างจาก Corporate Social Responsibility (CSR) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ในแง่ที่ว่า CSR เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยมีเป้าหมายในการทำกำไรสูงสุด ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ดำเนินกิจกรรมตามสินค้าและบริการของตนเองเป็นหลัก แล้วจึงพิจารณาว่าธุรกิจของตนนั้นสามารถรับผิดชอบหรือแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนเสริมได้อย่างไรบ้าง ในขณะที่กิจการเพื่อสังคมมีเป้าหมายหลักที่ชัดเจนคือเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกิจการสามารถสร้างรายได้และกำไรเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

คุณภาพของสินค้าและบริการเป็นสิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญเป็นหลัก ส่วนการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงส่วนเสริมในการตัดสินใจซื้อหรือรับสินค้าและบริการต่าง ๆ ในช่วงระยะเริ่มต้นของการทำงานควรเปิดโอกาสในการค้นหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับธุรกิจ แล้วจึงมุ่งเน้นไปที่ส่วนสำคัญ ๆ เช่น การวิเคราะห์ตลาดที่เหมาะสมกับกิจการ และการพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้คุณภาพจนเกิดการบอกต่อ ซึ่งอาจเริ่มจากกลุ่มลูกค้าเฉพาะ จากนั้นถอดบทเรียนเพื่อนำมุมมองของลูกค้ามาแปลงเป็นตัวตนของเรา

การทำงานกับชาวบ้านและรูปแบบความสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่ใช่การเข้าไปช่วยเหลือแต่เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้ เป็นการเติมเต็มให้กันและกัน ส่วนสำคัญคือการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นชุมชน และการยอมรับการทำงานในระนาบเดียวกับชุมชนหรือผู้ร่วมงานที่ทำให้เกิดการยอมรับและเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งเป็นการสร้างจุดแข็งและพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจได้อย่างดี การวัดผลความสำเร็จควรวัดจากสิ่งที่ตรงกับการทำงานของธุรกิจเรา ไม่ควรกำหนดตัวชี้วัดหลาย ๆ ตัว ควรกำหนดแค่ 1-2 ตัวที่สามารถจับต้องได้จริง ๆ เมื่อเริ่มดำเนินงานแล้วเราจะทราบว่าตัวชี้วัดใดที่เหมาะกับธุรกิจของเรา และสามารถนำข้อมูลไปใช้ตอบคำถามต่อทั้งตัวเอง ชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสังคมได้

การจัดตั้งทีมงานและการบริหารทีมงาน

สมาชิกในทีมควรมีเป้าหมายและความสนใจหลักในเรื่องเดียวกัน แต่ไม่ควรมีมุมมองอย่างเดียวกันทั้งหมด ค้นหาและยอมรับในจุดอ่อนของตนเองเพื่อหาคนที่เก่งในด้านนั้นมาช่วยเสริม ความชัดเจนของเอกสารหรือสัญญาต่าง ๆ ไม่ควรทำงานโดยปราศจากเอกสารหรือสัญญาใด ๆ หัวใจในการบริหารคนคือการพัฒนาศักยภาพของบุคคล ดังนั้นต้องมอบหมายงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เมื่อทีมงานใหญ่ขึ้น จำเป็นต้องมีกฏเกณฑ์เพื่อเป็นกรอบในการทำงานและอยู่ร่วมกัน รวมทั้งการปรับรูปแบบการทำงานให้มีความเด็ดขาดมากขึ้น การทำงานกับผู้ที่อายุมากกว่า ต้องอาศัยความชัดเจนและความจริงใจ เช่น การกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนและตกลงร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้ทีมงานได้สร้างวิธีการทำงานของตนเอง และเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ต้องคุยด้วยเหตุผลเท่านั้นและควรพูดคุยกับบุคคลโดยตรง

การหาทุน การระดมทุน และการจัดการการเงิน

การทำธุรกิจต้องไม่กลัวการขาดทุน สิ่งสำคัญที่ควรระลึกคือความไม่ยั่งยืนของเงินทุนที่ได้รับและต้องพยายามสร้างรายได้ให้กิจการสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเร็วที่สุด การทำบัญชีรายรับรายจ่ายช่วยให้ทราบสถานการณ์ของกิจการ ส่วนใดควรลงทุนเพิ่ม หรือส่วนใดควรลดการลงทุนลง การระดมทุน ต้องเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และรับความช่วยเหลือได้ถูกจุด กลุ่มสายประกวด ต้องศึกษาเวทีประกวดให้ดีว่าเหมาะกับลักษณะธุรกิจของเราไหม? อย่างไรก็ตาม ต้องพยายามสร้างรายได้จริง ๆ ให้ได้โดยเร็ว เพราะจังหวะที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนคือช่วงที่กิจการสามารถสร้างรายได้และกำไรได้ด้วยตนเองทำให้นักลงทุนมองเห็นมูลค่าของกิจการได้ชัดเจนขึ้นและมีโอกาสให้ทุนแก่ธุรกิจมากขึ้น"