Article

3 แนวคิดทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ เพื่อสร้างกำไรพร้อมดูแลโลก


ในปัจจุบันแนวคิดเรื่องความยั่งยืนกลายเป็นหัวใจสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสหรือเทรนด์อีกต่อไป แต่เป็นความรับผิดชอบและความจำเป็นที่ธุรกิจยุคใหม่ต้องคำนึงถึง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ซึ่งหลักๆ มาจากภาคธุรกิจ ได้สร้างวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญให้กับโลก เรียกว่า Triple Planetary Crisis คือ วิกฤติซ้อนด้านสิ่งแวดล้อมของโลก 3 ประการ ประกอบด้วย (1) ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) ปัญหามลพิษในทุกด้าน และ (3) ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาเหล่านี้มีความรุนแรงและกระทบชีวิตของผู้คนทั่วโลก ประเทศต่างๆ จึงเห็นตรงกันว่าต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ผ่านการร่วมลงนามรับรองข้อตกลงสำคัญหลายประการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยเหตุนี้ การปรับธุรกิจให้มีหัวใจ ทำกำไรและดูแลโลกไปพร้อมกัน จึงกลายเป็นความจำเป็นเพื่อการอยู่รอดของหลายธุรกิจ และ supply chain ที่เกี่ยวข้องด้วย แนวคิดดังกล่าวมีอะไรบ้าง และแต่ละข้อมีความสำคัญรวมถึงเกี่ยวข้องกันอย่างไร ไปดูกันเลย ที่มา: sdgmove.com

ภาพประกอบเนื้อหา

💬 A – Act to Reduce Harm

การทำธุรกิจอย่างมีหัวใจขั้นแรกคือ การตรวจสอบว่าธุรกิจของเราสร้างผลกระทบในเชิงลบอะไรให้สังคมและโลกบ้าง โดยสำรวจในแต่ละขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผลกระทบทางลบเหล่านั้นมักจะผูกพันอยู่กับต้นทุนของเรา หากจัดการได้ก็จะลดความเสี่ยงลงได้มาก

ผลกระทบทางลบที่สำคัญในปัจจุบันคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของเสียหรือมลพิษจากการผลิต และกากอุตสาหกรรม ของเสียจากการผลิตบางอย่างถ้าเรานำไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น ขายต่อ หรือพัฒนาไปเป็นสินค้าอื่น ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจของเราได้ หรือหากจัดการผลกระทบทางลบอื่นๆ ได้ เช่น การใช้น้ำและไฟฟ้าที่ไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ ก็จะช่วยลดต้นทุนลงไปได้อีกมาก จะเห็นได้ว่าการจัดการผลกระทบทางลบ นอกจากจะยั่งยืนแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนและอาจเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจได้อีกด้วย

💬 B – Benefit Stakeholders

หลังจากจัดการผลกระทบทางลบแล้ว หากมีกำลังพอที่จะสร้างประโยชน์ได้มากกว่านั้น เราอาจจะเริ่มสำรวจดูว่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เราทำงานกับใครบ้าง และจะสร้างประโยชน์ร่วมกับคนเหล่านั้นได้อย่างไร

เช่น หากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร จะทำให้ธุรกิจของเราเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบให้เราได้อย่างไร จะสร้างประโยชน์เพิ่มเติมให้กับชุมชนรอบโรงงานหรือบริษัทของเราได้อย่างไร จะเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการที่ยั่งยืนให้กับลูกค้าของเราได้อย่างไร จะจัดการของเสียอาหารจากธุรกิจของเราอย่างไร จะร่วมมือกับใครในการนำอาหารไปทำปุ๋ยย้อนกลับไปที่เกษตรกร หรือจะร่วมมือกับองค์กรใดทำให้อาหารของเราได้มีส่วนช่วยคนไร้บ้านที่อาจเข้าถึงอาหารได้ยาก เป็นต้น

💬 C – Contribute to Solutions

นอกจากทำสิ่งที่ควรรับผิดชอบ คือ ไม่สร้างผลกระทบให้คนอื่นและยังมีหัวใจสร้างประโยชน์ให้กับคนที่เกี่ยวข้องแล้ว หากจะให้ยั่งยืนที่สุด เราต้องมีหัวใจสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกด้วย

ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านความยั่งยืนอีกหลายประการ หากพิจารณาจากสถานะตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทย อาจสรุปได้ว่าธุรกิจที่เป็นโอกาสและครอบคลุมปัญหาเหล่านั้น มีอยู่ 6 กลุ่ม ดังนี้

🍽 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนและสุขภาพที่ดี 📚 ธุรกิจการศึกษาที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างทักษะที่จำเป็น 🏝 ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงนิเวศ 🚮 ธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการขยะ 🏦 ธุรกิจด้านการเงินและสินเชื่อสำหรับรายย่อย 🚑 ธุรกิจด้านคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ บริการสุขภาพการแพทย์ทางไกล ♻ ธุรกิจด้านทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทดแทน

ด้วยโอกาสเหล่านี้ เราอาจปรับธุรกิจให้มีสินค้าหรือบริการบางตัวที่มาตอบโจทย์ความยั่งยืนเหล่านี้ได้ รวมถึงเก็บข้อมูลผลกระทบ (impact) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ไว้ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและทั่วโลกเกี่ยวกับการขับเคลื่อนความยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งอาจดึงดูดให้มีนักลงทุนมาลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย